ผิดหวังโอเปกไม่ประชุมฉุกเฉินฉุดราคาน้ำมันดิบดิ่งเกือบ1%
ผิดหวังโอเปกไม่ประชุมฉุกเฉินฉุดราคาน้ำมันดิบดิ่งเกือบ1% ท่ามกลางความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
เว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com รายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส เมื่อวันศุกร์(21ก.พ.)ดิ่งลงเกือบ 1% ท่ามกลางความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังผิดหวังต่อการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรไม่เห็นด้วยต่อการจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหามาตรการพยุงราคาน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ ลดลง 0.9% ปิดที่ราคา 53.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลง 1.4% ปิดที่ 58.46 ดอลลาร์/บาร์เรล
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานเตือนว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจโลกได้ดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดแล้ว แต่การฟื้นตัวยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางความเสี่ยงในช่วงขาลง
“โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ขณะที่การผลิตได้หยุดชะงักลง และการเคลื่อนย้ายของแรงงานก็ได้ถูกจำกัด โดยมีแนวโน้มว่าประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบเช่นกันในธุรกิจการท่องเที่ยว, ห่วงโซ่อุปทาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์” รายงานระบุ
ขณะที่รัสเซีย เปิดเผยว่า กลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่เห็นด้วยต่อการจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นก่อนการประชุมตามปกติในเดือนหน้า เพื่อหามาตรการพยุงราคาน้ำมันที่ได้ทรุดตัวลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันไม่เห็นความจำเป็นที่โอเปกและพันธมิตรจะจัดการประชุมก่อนการประชุมตามกำหนดในวันที่ 5-6 มี.ค.
นอกจากนี้ รัสเซีย ยังไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธต่อข้อเสนอที่ให้กลุ่มโอเปกและพันธมิตร ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร มีมติเสนอให้โอเปกปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 600,000 บาร์เรล/วัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันซึ่งได้ทรุดตัวลง อันเนื่องมาจากความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
นายโนวัค กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียขอเวลาตัดสินใจในประเด็นดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์ภาวะตลาดน้ำมัน ก่อนที่จะประกาศจุดยืนของรัสเซีย
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัสเซียมีท่าทีคัดค้านข้อเสนอที่ให้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 600,000 บาร์เรล/วัน โดยเห็นว่าควรมีการขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตตามโควตาเดิมในขณะนี้ต่อไป