บ.สืบราคา-ผู้ชนะรายเดียวกัน! เจ้ากรมสื่อสารทบ.แจงปมซื้อระบบต้านโดรน190ล. ช่วงเร่งด่วน
"...สาเหตุที่ต้องสืบราคาจากบริษัทเพียงแค่รายเดียว เป็นเพราะว่าในช่วงที่มีความต้องการใช้งานระบบ Anti-Drone ดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่มีความเร่งด่วนอย่างยิ่ง ...เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามานั้นเบื้องต้นได้มีการรายงานให้ทางฝ่ายผู้ใหญ่ในกองทัพบกได้ทราบเรื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว..."
ประเด็นการร้องเรียนปัญหาโครงการจัดซื้อระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone) ของกรมการทหารสื่อสารเพื่อสนับสนุนหน่วยข่าวกรองทหาร (ขกท.) ในช่วงปี 2562 โดยแยกเป็น ระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti Drone) จำนวน 1 ระบบ ราคา 150 ล้านบาท และ เรดาร์ตรวจจับอากาศยานไร้คนขับแบบ Active ชนิดติดตั้ง ประจำที่ จำนวน 1 ระบบ ราคา ทั้งสิ้น 40 ล้านบาท รวม 2 รายการ 190 ล้านบาท ที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับไปแล้วก่อนหน้านี้
มีการระบุปัญหาสำคัญ 6 ประการ ได้แก่
1.การติดตั้งและการเก็บเครื่องมือมีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องใช้กำลังพลเป็นจำนวนมาก และบริเวณพื้นที่ติดตั้งต้องเป็นพื้นที่แข็งเท่านั้น รวมถึงใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้วจะสามารถลดจำนวนกำพลให้เหลือเฉพาะผู้ใช้งานได้
2.กำลังไฟฟ้าที่เครื่องมือต้องการนั้นหากเป็นในส่วนของ Fix Station จำเป็นต้องใช้กำลังไฟเป็นจำนวนมาก และเครื่องมือบางชุดมีการรั่วของไฟฟ้า การติดตั้งจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
3.การค้นหาคลื่นสัญญาณ Drone (อากาศยานไร้คนขับ) นั้น จะทำงานได้เฉพาะ Drone มาตรฐานทางพาณิชย์เท่านั้น หากเป็น Drone ประกอบจะใช้ย่านความถี่อื่น ซึ่งระบบไม่สามารถตรวจพบ Drone ได้
4.จากผลการปฏิบัติงานพื้นที่จริง พบว่า พื้นที่เขตเมือง มีความแน่นอนในการตรวจพบ Drone ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณสัญญาณคลื่นมาก แต่ถ้าพื้นที่เขตต่างจังหวัด มีความแน่นอนในการตรวจพบ Drone ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์
5.กรณีเปิดระบบทำงานเต็มรูปแบบพบว่ามีการใช้กระแสไฟฟ้าสูง จำเป็นต้องต่อสายไฟเฟสตรงที่ไม่มีเบรกเกอร์เท่านั้น
6.แจมเมอร์ (ระบบกวนสัญญาณ) ที่ Fix Station ทิศใต้ ชำรุด (อยู่ระหว่างดำเนินการซ่อม)จัดหาเรดาร์ตรวจจับอากาศยานไร้คนขับแบบ Active ชนิดติดตั้งจำนวน 1 ระบบ วงเงิน 40,000,000 บาท
ส่วนรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างนั้น สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า คณะกรรมการประกวดราคากำหนดราคากลางไว้ 190 ล้านบาท โดยอ้างอิงราคากลางจากเอกชนรายเดียว คือ บริษัท แอลพีเอ็น แอดวานซ์ เทค จำกัด (อ่านประกอบ : เปิด บ.แหล่งที่มาราคากลาง จัดซื้อระบบต่อต้านโดรน 190 ล. ทบ. วิธีเฉพาะเจาะจง, ร้องสอบ 'Anti-Drone' ทหาร 190 ล.ปัญหาใช้งานเพียบ-จนท.ยันตรวจรับไม่พบข้อผิดพลาด)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชน ที่ชนะการเสนอราคาโครงการจัดซื้อระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone) ทั้งในส่วนระบบป้องกันและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti Drone) วงเงิน 150 ล้านบาท และ เรดาร์ตรวจจับอากาศยานไร้คนขับแบบ Active ชนิดติดตั้ง ประจำที่ วงเงิน 40 ล้านบาท รวมวงเงิน 2 รายการ 190 ล้านบาท ก็คือ บริษัท แอลพีเอ็น แอดวานซ์ เทค จำกัด (ดูประกาศประกอบ)
ต่อกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง พล.ท.วสันต์ สวนแก้ว เจ้ากรมการทหารสื่อสาร เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงในทุกประเด็น
โดยในประเด็นการสืบราคาจากบริษัทเอกชนรายเดียวคือ บริษัท แอลพีเอ็น แอดวานซ์ เทค จำกัด นั้น พล.ท.วสันต์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องสืบราคาจากบริษัทเพียงแค่รายเดียว เป็นเพราะว่าในช่วงที่มีความต้องการใช้งานระบบ Anti-Drone ดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่มีความเร่งด่วนอย่างยิ่ง
ส่วนประเด็นปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องการใช้งานนั้น พล.ท.วสันต์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ตรวจรับงานยืนยันว่า ในช่วงตรวจรับงานไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
" ในช่วงที่มีการตรวจรับงานไม่มีปัญหา แต่พอถึงเวลาที่จะใช้งาน ถ้าของมีการพังกันไป มันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ตอนนี้ประกันยังไม่หมด จะหมดตอนช่วงเดือน พ.ค. ถ้าของมีปัญหาก็คงต้องนำของส่งไปส่งเคลมตามอายุการประกันต่อไป ซึ่งของที่ผลิตออกมาจากโรงงานแล้วปรากฎว่ามันมีตำหนินั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้" พล.ท.วสันต์ ระบุ
เมื่อถามถึงประสิทธิภาพการใช้งานของระบบ Anti-Drone พล.ท.วสันต์ กล่าวว่า ทหารสื่อสารไม่ได้ใช้ แค่เป็นหน่วยจัดซื้อ หน่วยงานที่ใช้ คือ หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.)กับ หน่วยข่าวกรองทหาร (ขกท.) โดย ขกท.จะเป็นผู้ใช้งานและส่งมอบให้ นปอ.ต่อไป
“ถึงผมไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเพิ่งจะรับมอบระบบเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่มันก็เป็นความรับผิดชอบผมที่ทำหน้าที่ตรวจรับ ซึ่งตอนตรวจรับเราก็ดูแล้วว่ามันไม่มีปัญหาอะไร เราได้ดูในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างว่าแต่ละหน่วยอยากจะได้อะไร ผมดูเชิงเทคนิคว่าเมื่อได้รับมาแล้วมันคุ้มกันหรือไม่กับความต้องการของหน่วยงาน ถ้าหากเทียบเท่าหรือดีกว่า ก็เอา แต่ถ้าต่ำกว่าไม่ได้ และการใช้ ทบ. ต้องได้ประโยชน์” พล.ท.วสันต์กล่าว
เมื่อถามย้ำถึงปัญหาเรื่องระบบ Anti-Drone ในประเด็นที่ว่าสามารถตรวจจับได้เฉพาะ Drone ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจจับ Drone ประกอบได้
พล.ท.วสันต์กล่าวว่า "ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว เพราะในสเปคก็เขียนไว้ชัดเจนว่าใช้เฉพาะ Drone ทางพาณิชย์เท่านั้น หาก Drone ประกอบที่ใช้ในย่านความถี่อื่นก็จะไม่สามารถตรวจจับได้ เพราะว่าในประเทศไทยนั้นมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควบคุมคลื่นความถี่อยู่ เราก็จัดหาระบบมาใช้สำหรับ Drone ที่อยู่ในคลื่นความถี่ที่ กสทช.ควบคุมและอนุญาตให้ใช้ แต่ถ้าหากเป็น Drone ผีที่ใช้ย่านความถี่อื่น ที่นานาประเทศใช้ แต่เป็นคนละย่านกับ กสทช.ตรงนี้เราก็ไม่ทราบเหมือนกัน"
“ก็เหมือนกับการซื้อเสื้อเกราะมา สเปคบอกว่ากันกระสุน M16 ได้ไม่เป็นไร แต่ถ้าเอาปืน M60 ยิง อาจจะเข้าแต่ก็ผ่อนไป ไม่เป็นไรมาก หรือจะพูดง่ายๆก็คือในตอนนี้เราเอาระบบ Anti-Drone ที่ใช้กับคลื่นความถี่ กสทช.มาใช้งาน ถ้ามีผู้ก่อกวนหาวิธีการอื่นๆ เราก็ต้องหาวิธีการอื่นๆมาแก้ไขกันไป ก็ต้องไปตั้งเรื่องอีกว่ามีการนำ Drone คลื่นความถี่อื่นมาใช้เพื่อก่อกวน ก็คงต้องแก้ปัญหาต่อไป พูดง่ายๆก็คืออย่างเราจะแก้เรื่องขโมย ขโมยเข้ามาทางหน้าต่าง เราก็ตามแก้ไข ขโมยก็ไปแก้ทางเข้าทางประตูอีก เราก็ต้องหาทางกันอีก สรุปก็คือในระบบแบบนี้เราเป็นผู้ตาม มันต้องมีเหตุก่อน แล้วเราก็ต้องหาทางแก้ไขกันไปเรื่อยๆ แต่เราไปคิดก่อนไม่ได้อีกว่ามันจะมีปัญหาแบบนี้ๆ” พล.ท.วสันต์กล่าว
เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการตรวจจับ Drone ในพื้นที่เมืองแค่ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พล.ท.วสันต์ ชี้แจงว่า "เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วการตรวจจับในเมืองนั้นจะเป็นเรื่องยาก เพราะอาจจะติดอะไรหลายๆอาทิ ตึกที่จะรบกวนสัญญาณได้ แต่ถ้าเราเห็น Drone เราถึงส่งคลื่นความถี่ไปรบกวน"
“ยกตัวอย่างการใช้ Drone ที่ถ้ำขุนน้ำนางนอนทำไมบางคลื่นวิทยุนั้นถึงใช้ไม่ได้ แค่อยู่ห่างไป 100 กว่าเมตรเท่านั้น สรุปก็คือในแต่ละพื้นที่นั้นมีความเข้มข้นของย่านสัญญาณแตกต่างกันออกไป แค่อยู่ห่างกันไม่มากย่านสัญญาณนี้ก็อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามานั้นเบื้องต้นได้มีการรายงานให้ทางฝ่ายผู้ใหญ่ในกองทัพบกได้ทราบเรื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" พล.ท.วสันต์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อสัมภาษณ์ ผู้บริหาร บริษัท แอลพีเอ็น แอดวานซ์ เทค ให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเช่นกัน
เบื้องต้น พนักงานบริษัทฯ แจงว่า จะนำเรื่องร้องเรียนปัญหาการใช้งานระบบ Drone ดังกล่าว ไปให้กับทางผู้บริหารเพื่อให้ติดต่อกลับมาชี้แจงสำนักข่าวอิศราโดยเร็วที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ
เปิด บ.แหล่งที่มาราคากลาง จัดซื้อระบบต่อต้านโดรน 190 ล. ทบ. วิธีเฉพาะเจาะจง
ร้องสอบ 'Anti-Drone' ทหาร 190 ล.ปัญหาใช้งานเพียบ-จนท.ยันตรวจรับไม่พบข้อผิดพลาด