สธ.ยันไม่มีการห้ามเดินทางไปปทระบาดโควิด-19 จำเป็นขอให้ระวัง-เล็งประกาศโรคติดต่ออันตราย
นายกฯ ยืนยัน ไม่มีการปิดบัง หรือบิดเบือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทย ขอประชาชนมั่นใจในมาตรการ ป้องกันและควบคุมโรคที่ดี เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ย้ำชัดไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มคัดกรองทุกสนามบิน แจกบัตรคำแนะนำสุขภาพให้นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ สถานบริการต่าง ๆ และที่สำคัญมีบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครที่มีความสามารถ ทุ่มเท เสียสละ -คาด 24 ก.พ.จะมีการประกาศไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้า สถานการณ์ โรคไวรัสโควิด-19 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
1.สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวลา 08.00 น.
ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 18 ราย กลับบ้านแล้ว 17 ราย รวมสะสม 35 ราย
ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,052 ราย คัดกรองจากสนามบิน 58 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 994 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 861 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 191 ราย
สถานการณ์ทั่วโลกใน 28 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2563 (09.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 75,725 ราย เสียชีวิต 2,126 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 74,577 ราย เสียชีวิต 2,118 ราย
2. สธ.เผยผู้เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หากไม่ป่วย กลับบ้านได้
กระทรวงสาธารณสุข เผยกรณีมีข้อกังวลของผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หากไม่มีไข้ ไอ น้ำมูก อาการไม่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค จะไม่ถูกรับตัวไว้ในโรงพยาบาล แต่ขอแนะนำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเอง หากป่วย ขอให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่มีประกาศหรือนโยบายห้ามการเดินทางไปพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่หากจำเป็นต้องไป ขอให้ระมัดระวัง ให้ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือเจลล้างมือ ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อไปอยู่ในที่คนจำนวนมาก
ประเทศไทยไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งทางเครื่องบินพาณิชย์ และเรือสำราญ ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่ามีไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือมีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค ที่ด่านควบคุมโรคจะถูกส่งตัวไปตรวจเพิ่มที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงเข้มการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค ทั้งผู้โดยสารขาเข้าและขาออก
สำหรับการเดินทางกลับประเทศไทย ทุกคนจะผ่านการคัดกรองที่สนามบิน ในส่วนผู้ที่ไม่มีไข้ อาการไม่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ขอแนะนำให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง หากป่วยมีไข้ ไอ มีน้ำมูก ภายน 14 วันให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ
ขณะนี้ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 35 ราย กลับบ้านแล้ว 17 ราย ยังนอนรักษาที่โรงพยาบาล 18 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 2 ราย ที่สถาบันบำราศนราดูร รายที่ 1 ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด ในวันนี้ อาการดี ทำตามคำสั่งได้ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้ผลลบ รายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ โดยทั้ง 2 คน ได้รับยา Favipiravir ครบ 5 วันแล้ว
การแถลงข่าว มีการระบุถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยไม่มีการปิดบัง หรือบิดเบือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทย ขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรการ ป้องกันและควบคุมโรคที่ดี เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เริ่มคัดกรองทุกสนามบิน แจกบัตรคำแนะนำสุขภาพให้นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และสถานบริการต่าง ๆ และที่สำคัญเรามีบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครที่มีความสามารถ ทุ่มเท เสียสละ ขอเชื่อมั่น ให้กำลังใจ และให้ความร่วมมือ
3.ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาใกล้ชิดกับผู้ป่วย
ช่วงท้ายนายแพทย์รุ่งเรือง เน้นย้ำว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสาร หรือจำกัดการเดินทาง แต่อย่างใด ขณะที่นายแพทย์โสภณ ขอให้ติดตามการประกาศ โรคไวรัสโควิด -19 เป็น โรคติดต่ออันตราย ซึ่งก่อนหน้านี้มีอยู่แล้ว 13 โรค โดยคาดว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน จะมีมติเห็นชอบ และจะทำให้การบริหารจัดการโรคนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/