เจาะถุงเงิน 3 บ.‘GM-เชฟโรเลตไทย’ ขาดทุนสะสม 2 หมื่นล.ก่อนขาย รง.ต่อให้ทุนจีน
“...หากดูตามตัวเลขงบการเงินของบริษัท จีเอ็มฯ ในส่วนของการผลิตยานยนต์ ในช่วง 3 ปีหลัง (2559-2561) มีกำไรครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 เลยทีเดียว โดยในปี 2560 ดูท่าจะหนักสุดต้องแบกการขาดทุนสูงถึงหมื่นล้านบาท รวมยอดขาดทุนสะสมทะลุ 3 พันล้านบาท ขณะที่บริษัท เชฟโรเลตฯ ขาดทุน 3 ปีหลัง (2559-2561) ทุกปี หลักพันล้านบาท รวมยอดขาดทุนสะสมมากถึง 2 หมื่นล้านบาทเศษ มีแค่บริษัท จีเอ็มฯ ในส่วนของการผลิตเครื่องยนต์ ยังประคองตัวอยู่ได้ โดย 3 ปีหลัง (2559-2561) มีกำไรทุกปีแต่น้อยลงเรื่อย ๆ จากหลักร้อยล้านบาทลดเหลือหลักสิบล้านบาทในช่วงปี 2561โดยมีกำไรสะสมประมาณ 144 ล้านบาท…”
บริษัท เจอเนอรัล มอเตอร์ส จำกัด หรือ GM บริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ ‘เชฟโรเลต’ จากตลาดรถยนต์ประเทศไทย พร้อมกับขายโรงงานต่อให้กับกลุ่ม ‘เกรท วอล มอเตอร์ส’ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนธุรกิจยานยนต์จากประเทศจีน เป็นผู้ดำเนินการต่อ
โดยนายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจัดจำหน่าย GM International Operations ระบุว่า GM ได้ตัดสินใจถอนเชฟโรเลตออกจากตลาดรถยนต์ในไทยอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2563 หลังจากมีการขายศูนย์การผลิตรถยนต์ และเครื่องยนต์ของ GM ประเทศไทย ใน จ.ระยอง ให้แก่ ‘เกรท วอล มอเตอร์ส’ โดยการตัดสินใจขายโรงงานให้กับเกรท วอล มอเตอร์ส ในช่วงที่ผ่านมา GM ไม่สามารถใช้โรงงานผลิตที่ จ.ระยองได้ เต็มประสิทธิภาพ จากยอดจำหน่ายเชฟโรเลตในไทย และตลาดส่งออกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการไม่มีโรงงานในไทย ส่งผลเสียด้านการแข่งขันที่ทำให้ GM ไม่สามารถแข่งขันในตลาดรถยนต์ไทยในด้านราคาได้ จากต้นทุนการนำเข้ารถจากต่างประเทศ จะเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตจากประเทศไทย (อ้างอิงข้อมูลจาก www.marketeeronline.co)
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า GM ประเทศไทย มีการจัดตั้งขึ้นมา 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตรถยนต์ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องยนต์ และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจการขายส่งยานยนต์ อะไหล่ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์
1.บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2535 ทุนปัจจุบัน 20,958,330,300 บาท (2 หมื่นล้านบาทเศษ) มีกลุ่มทุนสัญชาติอเมริกันถือหุ้นใหญ่ แจ้งประกอบธุรกิจการผลิตยานยนต์
ปรากฏชื่อนายดง ซาน คิม นายอำนาจ แสงจันทร์ น.ส.วรรณวิมล จารุกุลธวัช นางสุพรรณี จึงเสถียรทรัพย์ นายวันชนะ อูนากูล นายเฮกเตอร์ ราอูล บีจาเรียล กอนซาเลซ และนายทัตสึย่า ซุกาวาร่า เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 40,562,887,633 บาท รายจ่ายรวม 41,333,388,737 บาท เสียภาษีเงินได้ 360,229,828 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 1,702,837 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,132,433,769 บาท ขาดทุนสะสม 3,107,559,650 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 41,886,452,663 บาท รายจ่ายรวม 51,913,369,859 บาท เสียภาษีเงินได้ 399,962,346 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 3,246,391 บาท ขาดทุนสุทธิ 10,430,125,933 บาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 42,717,773,423 บาท รายจ่ายรวม 40,996,056,362 บาท เสียภาษีเงินได้ 322,687,508 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 11,003,508 บาท กำไรสุทธิ 1,388,026,045 บาท
2.บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2551 ทุนปัจจุบัน 5,298,525,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจการผลิตเครื่องยนต์
ปรากฏชื่อนายดง ซาน คิม นายอำนาจ แสงจันทร์ น.ส.วรรณวิมล จารุกุลธวัช นางสุพรรณี จึงเสถียรทรัพย์ นายวันชนะ อูนากูล นายเฮกเตอร์ ราอูล บีจาเรียล กอนซาเลซ และนายทัตสึย่า ซุกาวาร่า เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 7,649,978,714 บาท รายจ่ายรวม 7,611,409,433 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 449,122 บาท กำไรสุทธิ 38,120,159 บาท มีกำไรสะสม 144,035,735 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 9,188,137,303 บาท รายจ่ายรวม 8,808,598,429 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 482,871 บาท รายจ่ายรวม 8,808,598,429 บาท กำไรสุทธิ 379,056,003 บาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 8,787,239,688 บาท รายจ่ายรวม 8,096,763,569 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 558,218 บาท กำไรสุทธิ 514,399,332 บาท
3.บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ GM เช่นกัน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2542 ทุนปัจจุบัน 4,137,146,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งยานยนต์ การขายส่งอะไหล่ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์
ปรากฏชื่อนายดง ซาน คิม นายอำนาจ แสงจันทร์ น.ส.วรรณวิมล จารุกุลธวัช นางสุพรรณี จึงเสถียรทรัพย์ นายวันชนะ อูนากูล นายเฮกเตอร์ ราอูล บีจาเรียล กอนซาเลซ และนายทัตสึย่า ซุกาวาร่า เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 15,404,449,160 บาท รายจ่ายรวม 15,725,506,584 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 206,501,017 บาท ขาดทุนสุทธิ 527,558,441 บาท ขาดทุนสะสม 20,498,124,730 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 13,176,745,878 บาท รายจ่ายรวม 14,400,496,701 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 197,364,023 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,421,114,846 บาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 12,775,133,763 บาท รายจ่ายรวม 14,174,562,800 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 168,067,067 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,567,496,104 บาท
หากดูตามตัวเลขงบการเงินของบริษัท จีเอ็มฯ ในส่วนของการผลิตยานยนต์ ในช่วง 3 ปีหลัง (2559-2561) มีกำไรครั้งสุดท้ายต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 เลยทีเดียว โดยในปี 2560 ดูท่าจะหนักสุดต้องแบกการขาดทุนสูงถึงหมื่นล้านบาท รวมยอดขาดทุนสะสมทะลุ 3 พันล้านบาท ขณะที่บริษัท เชฟโรเลตฯ ขาดทุน 3 ปีหลัง (2559-2561) ทุกปี หลักพันล้านบาท รวมยอดขาดทุนสะสมมากถึง 2 หมื่นล้านบาทเศษ
มีแค่บริษัท จีเอ็มฯ ในส่วนของการผลิตเครื่องยนต์ ยังประคองตัวอยู่ได้ โดย 3 ปีหลัง (2559-2561) มีกำไรทุกปีแต่น้อยลงเรื่อย ๆ จากหลักร้อยล้านบาทลดเหลือหลักสิบล้านบาทในช่วงปี 2561 โดยมีกำไรสะสมประมาณ 144 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีหากนับรวมยอด 3 บริษัทในเครือ จีเอ็มฯ ประเทศไทย มียอดขาดทุนสะสมมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท
นี่จึงอาจเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญในการตัดสินของผู้บริหารเครือ GM ขายโรงงานให้กับกลุ่ม ‘เกรท วอล มอเตอร์ส’ และยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย ก็เป็นไปได้ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://www.headlightmag.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/