'บิ๊กแดง'สังคายนาธุรกิจกองทัพ ส่งที่ดินทหารล้านไร่คืนคลัง
เว็บไซต์ www.thaipost.net รายงานว่า 17 ก.พ. 63 - เวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นตัวแทนกองทัพบกลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ในโครงการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก ร่วมกับกรมธนารักษ์ โดยมีนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นตัวแทนกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การใช้ที่ราชพัสดุของกองทัพบก ประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างในการจัดสวัสดิการภายในกองทัพบกเป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการจัดสวัสดิการภายในกองทัพบกดำเนินการภายใต้กรอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการเรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจประกาศ ณ วันที่ 8 ก.ค. 2548 เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ตลาดนัด กิจการสโมสร สนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อนกองทัพบก
อีกทั้งเพื่อปรับรูปแบบการจัดสวัสดิการภายในของกองทัพบกในบางกิจการเป็นการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ ซึ่งการกำกับดูแลของกองทัพบก แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. การจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ กรณีปกติทั่วไป เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าตลาดนัด เป็นต้น ให้เรียกเก็บค่าเช่า ค่าธรรมเนียม ตามอัตราที่กำหนดตามระเบียบและคำสั่งที่ใช้บังคับ ณ เวลานั้น 2. การจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจกรณีพิเศษ ได้แก่ สนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อนให้เรียกเก็บค่าเช่าค่าธรรมเนียมตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นเวลา 11.30 น. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยพล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุม โดยนายประสงค์ กล่าวว่า ตั้งแต่พล.อ.อภิรัชต์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1ได้หารือกับกรมธนารักษ์ โดยเริ่มจัดการเรื่องร้านค้าสวัสดิการ 7-11 ในกองทัพภาคที่ 1 ก่อน และเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ก็ได้จัดการร้า7-11 ในกองทัพบกขึ้น สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในระบบการเช่า โดยใช้พื้นที่เชิงธุรกิจกับกรมธนารักษ์ เมื่อได้ดำเนินการมาและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จึงได้คุยกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้การทำสวัสดิการเชิงธุรกิจเกิดขึ้น เช่น โรงแรมที่สวนสนประดิพัทธ์ จากเดิมกองทัพบกเริ่มจากสวัสดิการที่ดูแลทหารที่เจ็บป่วย และกำลังพลที่ไปพักผ่อน จากนั้นก็จะมีญาติของทหาร และผู้ที่รู้จักเข้ามาพักจึงกลายเป็นเชิงธุรกิจ จึงมองว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้องในส่วนอื่นด้วย เช่น ปั้มน้ำมัน สนามมวย สนามกอล์ฟ ทางพล.อ.อภิรัชต์ จึงได้คุยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นโดยได้หารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์คนที่แล้วประมาณเดือนพ.ย. 2561 ในขณะเดียวกันก็มาทำความเข้าใจกับคนในกองทัพ แต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจ เพราะเดิมสวัสดิการแต่ละส่วนงานของกองทัพก็ดูแลกันเอง จึงต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง
“ก่อนที่จะลงนามในร่างเอ็มโอยู ผบ.ทบ.ได้มีการตรวจร่างเอ็มโอยูประมาณ 1 เดือนครึ่ง วันนี้ถือเป็นวันที่ประสบความสำเร็จและลงนามร่วมกัน ซึ่งที่ดินในส่วนที่เป็นเชิงธุรกิจในการจัดสวัสดิการเชิงธุรกิจจะต้องส่งที่คืนให้กรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ก็จะเข้าไปบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ขณะที่รายได้ก็จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน” นายประสงค์ กล่าว
ด้านพล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสวัสดิการที่กองทัพบกดำเนินการมาแล้วในอดีต เริ่มต้นจากการที่เราดูแลกำลังพล เช่น สถานพักฟื้นพักผ่อน ที่ตอนนี้มีการขยายตัวของผู้มาใช้บริการจากกำลังพลไปสู่ญาติพี่น้อง ครอบครัว ตลอดจนประชาขนทั่วไป กองทัพบกตระหนักและทราบอยู่เสมอว่าเป็นพื้นที่ของแผ่นดิน กองทัพบกดำเนินการใดๆ ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด ซึ่งการจัดสวัสดิการไม่ใช่เฉพาะกองทัพบกเท่านั้น แต่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการสวัสดิการข้าราชการเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการเชิงธุรกิจ พ.ศ.2548 โดยการลงนามระหว่างกองทัพบก และ กรมธนารักษ์ ว่าเราจะดำเนินการอย่างไร หลังจากนี้กองทัพบกก็จะดำเนินการยื่นโครงการต่างๆ ให้กรมธนารักษ์พิจารณาว่า ในแต่ละโครงการจะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันคือไม่ว่าจะดำเนินการในลักษณะใด เช่นจะเป็นลักษณะสวัสดิการภายในหน่วย หรือสวัสดิการเชิงธุรกิจ ทางกำลังพลและครอบครัวของกองทัพบก ยังคงได้รับสิทธิที่จะได้รับค่าใช้บริการในราคาต่ำ และได้รับการลดราคา การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ทั้งสถานพักฟื้นพักผ่อน สนามกอล์ฟ ไม่ได้มีเฉพาะกองทัพบกไทย แต่กองทัพบกต่างประเทศเช่นกองทัพบกสหรัฐฯ ก็มีโรงแรม และ สนามกอล์ฟ เช่นกัน โดย กองทัพบกสหรัฐฯ มีสนามกอล์ฟ 160 แห่งที่บริหารเช่นเดียวกัน
“สิ่งที่กองทัพบกทำในวันนี้คือทำให้เกิดความถูกต้อง สามารถที่จะตรวจสอบได้ โปร่งใส รายได้ภายหลังจากที่เราจ่ายกับกรมธนารักษ์แล้ว ก็นำเงินเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพบก โดยกองทัพบกก็มีระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในกองทัพ พ.ศ.2554 เงินเหล่านี้ก็จะมาดูแลกำลังพล เช่น ทุนการศึกษาบุตร ดูแลสวัสดิการให้กับกำลังพลชั้นผู้น้อย” เสนาธิการทหารบก กล่าว
เมื่อถามถึงสัดส่วนการแบ่งรายได้นั้น นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายของกรมธนารักษ์ทุกประการ แต่ละธุรกิจมีการคิดสัดส่วนไม่เท่ากันเนื่องจากบางธุรกิจมีกำไรน้อย ส่วนแบ่งก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง อีกทั้งต้องมองทำเล และมูลค่าที่กินเป็นส่วนประกอบ เช่น ปั้มน้ำมันของกองทัพบกที่จำนวน 100 กว่าปั้ม ก็จะมีการประเมินมูลค่าที่ดิน ทรัพย์สิน และราคาเช่าที่ควรจะเก็บ ในส่วนของตลาดนัดภายในหน่วยทางทางกองทัพบกและกรมธนารักษ์จะลงพื้นที่เพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ในส่วนของปั้มน้ำมันกองทัพบก ทางกรมธนารักษ์จะแบ่งสัดส่วนกลับคืนให้กองทัพบกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5- ร้อยละ 5 ขึ้นไป และบางอย่างก็ร้อยละ 7.5
เมื่อถามว่าในส่วนของที่ดินของกองทัพบกมีจำนวนเท่าไหร่ที่จะต้องดูแล นายประสงค์ กล่าวว่า เป็นจำนวนเกือบล้านไร่ที่ต้องดูแล รวมถึงพื้นที่ที่เกษตรกรหรือประชาชนเข้ามาเช่า ทางกรมธนารักษ์ก็ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งจะควบคุมทั้งหมดทั้งสนามมวย สนามกอล์ฟ โรงแรมที่เข้าข่ายเชิงธุรกิจ อย่างไรก็ตามกรมธนารักษ์จะได้ประโยชน์จากค่าเช่าพื้นที่จากร้อยละของรายได้ อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับธุรกิจที่ต้องดูตามกฎหมาย ยืนยันว่าบางอย่างเงินไม่ได้กลับเข้ากองทัพบก แต่จะเป็นการลดราคาสินค้าให้กำลังพล เช่นหากกำลังพลเข้าไปตีกอล์ฟเราก็จะยึดหลักการเดียวกับสหรัฐฯคือราคาถูกกว่าเอกสาร และถ้ามีเงินเหลือบางส่วนก็จะนำกลับเข้ามาเป็นสวัสดิการกลางของกองทัพบก เช่น การดูแลทุนการศึกษาบุตรกำลังพล สวัสดิการการกู้ยืมเงิน ประกันชีวิตกำลังพล โดยมีระเบียบการใช้จ่ายที่ครบถ้วนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547
“ผมยังตอมไม่ได้ว่ากิจการเชิงธุรกิจของกองทัพบกได้กำไรกี่พันล้าน เพราะต้องใช้ความพยายามและเวลาเป็นปี กว่าที่จะเดินทางถึงตรงนี้ที่จะเริ่มทำเอ็มโอยู และทำเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจอย่างแท้จริงโดยมีมืออาชีพเข้ามาดูแล ก็จะเกิดความเข้าใส เช่นที่สหรัฐฯมีโรงแรมของกองทัพเช่นเดียวกัน และมีเอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งจะต้องดูสัดส่วนค่าบริการให้อยู่ในจุดที่พอเหมาะเมื่อเทียบกับคู่แข่ง” นายประสงค์ กล่าว
เมื่อถามว่าที่ดินกองทัพบกมีการจ่ายให้กรมธนารักษ์อย่างไร นายประสงค์ กล่าวว่า ถ้าเป็นที่ดินหลวงไม่มีการจ่ายให้กรมธนารักษ์ แต่ทางกองทัพบกขอให้ช่วยว่าในที่ที่มีประชาชนบุกรุก 7 แสนไร่ หากไปขับไล่ออกมาก็จะหาว่าทหารรังแก จึงให้กรมธนารักษ์ไปทำสัญญาเช่าครั้งละไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้อยู่ในระบบและควบคุมไม่ให้มีการบุกรุก ทำให้มีรายได้เข้าแผ่นดินมากขึ้น และมีความโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ สิ่งที่กองทัพบกตัดสินใจเดินมานี้ ตนขอชื่นชมที่เดินหน้าในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็มีเหล่าทัพอื่นเริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อทำเรื่องสวัสดิการเชิงธุรกิจให้เป็นระบบมากขึ้นเช่นกัน และนายกรับมนตรีก็สนับสนุนเรื่องนี้
ด้านพล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจการบางอย่างเป็นเชิงธุรกิจ แต่บางอย่างก็ไม่ใช่ ซึ่งต้องเข้าใจว่าการลงนามวันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพบก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสวัสดิการที่ถือเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น กองทัพบกได้ดำเนินการกับกรมธนารักษ์เช่นพื้นที่ถูกบุกรุก การจัดสรรที่ดินให้กับประชาชนเช่าตามห้วงเวลาเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่กรมธนารักษ์กำหนด ในขณะที่สโมสรกองทัพบกถือเป็นเรื่องภายใน แต่ถ้าเข้าข่ายสวัสดิการเชิงธุรกิจที่สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับกิจการอื่นๆของกองทัพ อาทิ โรงแรม สนามมวยก็จะเข้ากฎของกรมธนารักษ์ ทั้งนี้สวัสดิการของกองทัพบก แบ่งเป็น 2 อย่างคือสวัสดิการภายในหน่วยและสวัสดิการเชิงธุรกิจ โดยมีการกำหนดลักษณะ
เช่น สถานที่ ผู้ใช้บริการ และช่วงเวลาการเปิดให้บริการ ซึ่งการพิจารณาก็คือหากมีประชาชนมีใช้บริการเกินร้อยละ 50 ก็จะเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจ ทั้งนี้ก็มีบางธุรกิจที่ไม่ได้คืนรายได้ให้กับกองทัพบก เนื่องจากเป็นการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ไม่ใช่สวัสดิการ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ภายในกองทัพบก ที่ผู้ประกอบการไปเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์โดยตรงเอง ขณะที่กองทัพบกจะได้รับประโยชน์คือการลดราคาสินค้าร้อยละ 5 โดยกำลังพลได้รับประโยชน์โดยตรง
“ในชั้นต้นจะมีสวัสดิการเชิงธุรกิจจำนวน 40 กว่าแห่ง โดยจะทำเรื่องเสนอไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์เป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ตลาดนัด กิจการสโมสร สนามมวยลุมพินี (รามอินทรา) สนามมวยกองทัพภาคที่ 2 สนามกอล์ฟกองทัพบก สนามกอล์ฟลานนา สนามกอล์ฟสวนสนฯ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อนกองทัพบก” พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าในแต่ละปีมีรายได้จากกิจการทั้งหมดกี่พันล้านบาท พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ถึงพันล้านบาท เพราะว่าปัจจุบันเราดำเนินการในเชิงสวัสดิการภายใน แต่หากเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจเราต้องไปปรับปรุงพื้นที่ อีกทั้งเราไม่ใช่มืออาชีพ ทำให้รายได้ที่ได้ในปัจจุบันไม่ได้มากมาย