ช่องไม่พอให้เพื่อนลงแทนได้! คำชี้แจงเลขาสภาฯ-เบื้องหลังคำวินิจฉัยปมเสียบบัตร?
“...คำกล่าวอ้างของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า ที่เสียบบัตรแสดงตนในห้องประชุมจันทราไม่เพียงพอ (315 ช่อง จากจำนวน ส.ส. 500 คน) ตรงนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นในอนาคตอาจมีคนสบช่องใช้วิธีเสียบบัตรแทนกัน โดยอ้างว่าช่องเสียบบัตรไม่พอ ก็เป็นไปได้ ?...”
แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไปอีกครั้งแล้วก็ตาม เมื่อวันที่ 13-14 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา
แต่เงื่อนปม ส.ส. เสียบบัตรแทนกันในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าว ยังคงถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามี ส.ส. อย่างน้อย 4 ราย แบ่งเป็น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 3 ราย และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 1 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว ?
โดยเฉพาะกรณีของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ในคำวินิจฉัยว่า กระทำการโดยไม่สุจริต และเปิดช่องให้มีการยื่นสอบตามกฎหมายอื่นได้ (อ่านประกอบ : ความต่างคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีเสียบบัตร! เปิดช่องสอบ‘ฉลอง’-วัดบรรทัดฐาน ป.ป.ช.?)
เบื้องต้น การไต่สวนเรื่องนี้อยู่ในมือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว โดยวันที่ 21 ก.พ. 2563 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะนำเสนอแนวทางแก่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯว่า มีมูลพร้อมเดินเครื่องไต่สวนได้แล้วหรือยัง ? (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ลุย! ขอข้อมูลสภาปม ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน-21 ก.พ.ชงอนุฯมีมูลพอไต่สวนหรือไม่)
อย่างไรก็ดียังมีรายชื่อ ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยอีกอย่างน้อย 1 ราย ได้แก่ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกกล่าวหาว่า ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่อยู่ในห้องประชุมสภา แต่ไปโผล่อยู่ต่างประเทศ กลับมีชื่อลงมติกับเขาด้วย ?
สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า จากการสอบถามท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) พบว่าเวลาการเดินทางของนางนาที ขณะผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง ใกล้เคียงกับเวลาการลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการพิจารณาต่อ และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. หากต้องการข้อมูลอะไรจะส่งไปให้ (อ้างอิงข่าวจาก แนวหน้าออนไลน์)
เท่ากับว่าขณะนี้มี ส.ส. อย่างน้อย 2 รายที่ถูกตรวจสอบอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันคือ นายฉลอง และนางนาที
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ในคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล พบว่า ปรากฏชื่อของ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย มีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันด้วย
แต่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มิได้เอ่ยถึงแต่อย่างใด
เพราะเหตุใด ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้
ในคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2-3/2563 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งระบุถึงคำชี้แจงของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า กรณีของนายฉลองนั้น ให้การยอมรับว่า ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรบางช่วงในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค. 2563 จริง เนื่องจากญาติเสียชีวิตต้องไปจัดการเรื่องงานศพ ดังนั้นคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร (คณะกรรมการประสานฯ) จึงมีความเห็นว่า การลงมติให้ความเห็นชอบของนายฉลอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ในการแสดงตนและลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค. 2563 นั้น ปรากฏว่า นายฉลอง น.ส.ภริม พูลเจริญ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ได้มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯจริงตามที่กล่าวอ้าง
อย่างไรก็ดี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ใช้ห้องประชุมจันทรา ซึ่งเป็นห้องประชุมของวุฒิสภาเป็นการชั่วคราว โดยมีช่องเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดจำนวน 356 ช่อง เป็นส่วนของ ส.ส. จำนวน 315 ช่อง เมื่อ ส.ส. มีจำนวน 500 คน จึงส่งผลให้ช่องเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของ ส.ส. และทำให้ ส.ส. มีความจำเป็นต้องมอบบัตรแสดงตนและบัตรลงมติของตนให้เพื่อนสมาชิกที่นั่งอยู่ช่วยเสียบบัตรแสดงตน และลงมติแทนตามที่สมาชิกเจ้าของบัตรมีความประสงค์
กรณีเช่นนี้จึงไม่ควรถือว่ามีเจตนาที่จะให้ ส.ส. รายอื่นกระทำการออกเสียงลงคะแนนแทนตน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมแต่อย่างใด
ทั้งนี้คำชี้แจงของ น.ส.ภริม ระบุว่า ตามที่ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนได้นำเสนอภาพข่าวและกล่าวอ้างว่าตนได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระที่ 2-3 แทนผู้อื่นนั้น ตนได้นั่งอยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาลงมติ และขอยืนยันว่าการลงมติในวาระที่ 2-3 ตนได้ใช้บัตรแสดงตนและลงมติด้วยตนเองทุกครั้ง และไม่มีการออกเสียงลงมติแทนบุคคลอื่นแต่อย่างใด
ส่วนนายสมบูรณ์ ชี้แจงว่า ตามที่ปรากฏทางสื่อสารมวลชนว่า ตนมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติ 2 ใบ อันเป็นพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่ามีการลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แทนผู้อื่นนั้น ขอยืนยันว่า ตนได้นั่งอยู่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และกรณีที่ตนได้ถือบัตรจำนวน 2 ใบ ขอชี้แจงว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. 2562 ตนหาบัตรแสดงตนและบัตรลงมติไม่พบ จึงได้ไปขอบัตรที่ใช้ลงคะแนนสำรองจากเจ้าหน้าที่มาใช้เป็นการชั่วคราว ต่อมาพบบัตรของตนแล้ว แต่ก็ไม่ได้คืนบัตรลงคะแนนสำรอง ตนจึงมีบัตร 2 ใบ แต่ในการลงคะแนนได้ใช้บัตรแสดงตนและลงมติลงคะแนนเพียงครั้งเดียว
ส่วนกรณีนางนาทีนั้น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล (ผู้ร้อง) ได้ส่งคำร้องเพิ่มเติมข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระที่ 2 มาตรา 49 ปรากฏชื่อนางนาที รัชกิจประการ ลงมติเห็นด้วย ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวนางนาที อยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ อันแสดงให้เห็นว่ามี ส.ส. ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน
ท้ายที่สุดอย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญา หรือทางจริยธรรมของ ส.ส. คนใด คงมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับผิดรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่โมฆะ และสั่งให้สภาผู้แทนราษฎร ‘โหวตแก้’ วาระ 2-3 และรายงานกลับมายังศาลภายใน 30 วัน ส่วน ส.ส. ที่ถูกกล่าวหานั้นเปิดช่องให้ไปยื่นร้องสอบตามกฎหมายอื่น (อ่านประกอบ : พฤติการณ์ต่างจากปี 56-มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน!คำวินิจฉัยศาล รธน.ร่าง พ.ร.บ.งบฯได้ไปต่อ)
ประเด็นที่น่าสนใจจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคือ
หนึ่ง ส.ส. 2 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันนั้น เป็น ส.ส. ที่มิได้อยู่ห้องในประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับมีชื่อลงมติ (นายฉลอง ไปงานศพ นางนาที ไปต่างประเทศ)
สอง ส.ส.อีก 2 ราย ได้แก่ น.ส.ภริม และนายสมบูรณ์ ซึ่งถูกสื่อมวลชนบันทึกว่ามีการถือบัตร หรือเสียบบัตรหลายใบนั้น ไม่ได้ถูกดำเนินการแต่อย่างใด ?
สาม คำกล่าวอ้างของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า ที่เสียบบัตรแสดงตนในห้องประชุมจันทราไม่เพียงพอ (315 ช่อง จากจำนวน ส.ส. 500 คน) ตรงนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นในอนาคตอาจมีคนสบช่องใช้วิธีเสียบบัตรแทนกัน โดยอ้างว่าช่องเสียบบัตรไม่พอ ก็เป็นไปได้ ?
นี่คือเบื้องหลังว่า ทำไมชื่อของ น.ส.ภริม และนายสมบูรณ์ จึงไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญเอ่ยถึง
ท้ายที่สุดบทสรุปเบื้องนี้จะเป็นอย่างไร ต้องรอดูบรรทัดฐานกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ลุย! ขอข้อมูลสภาปม ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน-21 ก.พ.ชงอนุฯมีมูลพอไต่สวนหรือไม่
ยังแสวงหาข้อเท็จจริงอยู่! ป.ป.ช.แจงสอบ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-รอ จนท.สรุปข้อมูล
ความต่างคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีเสียบบัตร! เปิดช่องสอบ‘ฉลอง’-วัดบรรทัดฐาน ป.ป.ช.?
พฤติการณ์ต่างจากปี 56-มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน!คำวินิจฉัยศาล รธน.ร่าง พ.ร.บ.งบฯได้ไปต่อ
เปิดชื่อตุลาการศาล รธน.ลงมติ 5:4 ร่าง พ.ร.บ.งบฯไม่โมฆะ-ให้โหวตใหม่วาระ 2-3
อีกคดี!ปมเสียบบัตรแทนแก้ที่มา ส.ว. ปี 56-ศาล รธน.สั่งโมฆะ วัดบรรทัดฐานการเมืองไทย?
ป.ป.ช.แจงกรอบสอบ 4 ส.ส.เสียบบัตรเบื้องต้น 180 วัน-ตุลาการศาล รธน.เริ่มประชุมแล้ว
‘ศรีสุวรรณ’ร้อง ป.ป.ช.สอบ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน อาจเข้าข่ายทุจริต-ขัดกันแห่งผล ปย.
คำร้อง ปธ.สภาฯถึงศาล รธน.แล้ว! ขอให้วินิจฉัยปม 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
เทียบยุคก่อนไม่ได้! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ปมเสียบบัตรแทนข้อเท็จจริงอาจต่างกัน-แบะท่ารอรับคำร้อง
90 ส.ส.ชง ปธ.สภาฯส่งศาล รธน.วินิจฉัยปมเสียบบัตรแทนกันตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ
ล้วงคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ผ่าน 7 ปีเกิดขึ้นซ้ำรอดูบรรทัดฐาน?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/