แปรรูปถุงหูหิ้ว จากขยะไร้ค่าเป็น 'แผ่นลามิเนต'
ความสำเร็จของงานวิจัยนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่การใช้ ‘ข้อมูล-ความรู้’ มาแก้ไขปัญหาให้ชุมชน ทำให้ชุมชนมีทางเลือกในการจัดการขยะพลาสติกที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าการเก็บรวบรวมเพื่อขายต่อเท่านั้น โดยเฉพาะขยะประเภทถุงหรือฟิล์มพลาสติกชนิด PP และ PE ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า “การคัดแยกขยะ” เป็นการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่การทำให้ขยะไร้ค่าเหล่ารี้มี “มูลค่าที่จับต้องได้” ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” ที่ปัจจุบันมีราคาและมีการรับซื้อเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
สำหรับ หมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 ม.3 ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ก็เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันจัดตั้งธนาคารขยะให้เป็นจุดรับซื้อขยะจากคนในชุมชน เพื่อรวบรวมขยะพลาสติก และขยะมีค่าอื่นๆ ขายให้กับคนที่มารับซื้อ ซึ่งแม้จะช่วยลดปริมาณขยะที่เทศบาลเข้ามาจัดเก็บได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีพลาสติกหลายชนิด เช่น ขวด PET สีต่างๆ ซองขนม ซองกาแฟ โดยเฉพาะถุงหูหิ้วที่ได้จากร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรด รวมถึงขยะพลาสติกประเภทฟิล์มต่างๆ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงใส่แกง ถุงใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงขนมคบเคี้ยวต่าง ๆ รวมถึงซองกาแฟ ฯลฯ จะเป็นพลาสติกที่รถซาเล้งไม่สนใจ เพราะนอกจากจะมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และบดสลายได้ยากแล้ว ส่วนหนึ่งยังมีการเติมสีลงในเนื้อพลาสติกเพื่อการพิมพ์ลายให้สวยงาม น่าใช้ หรือบางชนิดก็มีการลามิเนตด้วยฟิล์มอะลูมิเนียมลงไปด้วย ทำให้กลุ่มพ่อค้าที่รับซื้อขยะไม่รับซื้อ เนื่องจากต้องนำไปคัดแยกส่วนที่โรงงานรีไซเคิลพลาสติกไม่ต้องการออกไปก่อน
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัย “โครงการแผ่นลามิเนตจากขยะถุงพลาสติก” ที่มี ผศ. วรุณศิริ จักรบุตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นหัวหน้าโครงการ
ผศ. วรุณศิริ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับชาวบ้านในช่วงต้นของการทำวิจัยนั้น ทางกลุ่มที่รับซื้อขยะจากคนในชุมชนเขาต้องการวิธีที่จะทำให้ถุงหูหิ้วเหล่านี้กลายเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม ซึ่งวิธีการที่เราเสนอให้กับชุมชนคือ การนำมาทำเป็นแผ่นลามิเนต ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด ทำให้วัตถุประสงค์สำคัญงานวิจัยนี้คือ การพัฒนาเทคนิคการผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้วที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม พร้อมทั้งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแผ่นลามิเนตเป็นวัตถุดิบหลัก
“ในช่วงแรกของการทำวิจัย เป็นการศึกษาคุณสมบัติของถุงหูหิ้วที่มีอยู่ในท้องตลาด จากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่สามารถอัดให้ถุงหูหิ้ว 2-5 ชั้น ผสานเป็นแผ่นลามิเนตเนื้อเดียวกันได้ง่าย ๆ พร้อมทั้งทดสอบพบว่า แผ่นลามิเนตดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงดึงแรงฉีกมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคการเคลือบแผ่นลามิเนตบนชิ้นผ้า ที่ทำให้ได้แผ่นลามิเนตที่มีลวดลายสวยงามมากยิ่งขึ้น เมื่อได้ผลการวิจัยที่ชัดเจนแล้ว ทางทีมวิจัยจึงได้จัดให้มีการอบรมการใช้เครื่องดังกล่าวให้กับคนในชุมชน กลุ่ม อสม. และผู้สูงอายุ ให้สามารถผลิตแผ่นลามิเมตจากถุงหูหิ้วได้เอง”
ส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแผ่นลามิเนตนั้น ดร.กุลวดี สังข์สนิท หนึ่งในนักวิจัยร่วม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกล่าวว่า ทีมวิจัยต้องการให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ว่างงานมีรายได้จากกิจกรรมนี้ด้วย ดังนั้นนอกจากจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ซื้อแล้ว ยังจะต้องมีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย โดยผลิตภัณพ์ที่ทำได้ตอนนี้คือ กระเป๋า แผ่นรองปูแก้ว และเสื่อปูพื้น
“เหตุผลที่ทีมวิจัยต้องการให้คนในชุมชนสามารถผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้ว เพราะอยากให้กลุ่มผู้สูงอายุที่ว่างงานมีรายได้เสริมจากกิจกรรมนี้ด้วย ดังนั้นนอกทีมวิจัยจะพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่ใช้งานได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สำหรับใช้ผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้วและเศษผ้าแล้ว ทีมวิจัยยังได้ผลิต ‘กระเป๋าแฟ้ม’ เพื่อเป็นต้นแบบให้คนในชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 มีการนำแผ่นลามิเนตจากถุงพลาสติกหูหิ้วไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริง”
ดร.กุลวดี สังข์สนิท
นางสาวคัทธีญา ผาคำ อายุ 58 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรีไซเคิลของชุมชนหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 บอกว่า ขณะนี้ทางกลุ่มรีไซเคิลจะทำหน้าที่ผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงพลาสติก และส่งต่อให้สมาชิกในชุมชนรับไปผลิตเป็นกระเป๋าผ้า แล้วส่งกลับมาให้กลุ่มรีไซเคิลจำหน่ายอีกครั้ง โดยผู้ผลิตกระเป๋าจะได้รับค่าตอบแทนใบละ 5 บาท ซึ่งความสามารถในการผลิตที่กระเป๋าก็แตกต่างกันไปตามอายุ สมรรถภาพของร่างกาย และเวลาว่าง บางคนอาจผลิตได้เพียงวันละไม่กี่ใบ ขณะที่บางคนอาจผลิตกระเป๋าได้ถึง 80 ใบต่อวัน
สำหรับกระเป๋าผ้านี้มีราคาขายอยู่ที่ใบละ 40-80 บาท (ขึ้นกับขนาดและรูปแบบ) ถือเป็นการกระจายรายได้ให้คนในชุมชน โดยจุดเด่นของกระเป๋าชนิดนี้นอกจากความสวยงามของลวดลายผ้าแล้ว ยังมีความแข็งแรงและกันน้ำได้อีกด้วย ปัจจุบันมีทางเทศบาลรับไปจำหน่ายในกิจกรรมต่างๆ และเริ่มมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาสั่งทำกระเป๋าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้แล้ว โดยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาสามารถเปลี่ยนจากถุงหูหิ้วที่เป็นขยะพลาสติก มาผลิตเป็นกระเป่าผ้าได้ประมาณ 1,000 ใบ สร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว 12,000 บาท
ความสำเร็จของงานวิจัยนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่การใช้ ‘ข้อมูล-ความรู้’ มาแก้ไขปัญหาให้ชุมชน ทำให้ชุมชนมีทางเลือกในการจัดการขยะพลาสติกที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าการเก็บรวบรวมเพื่อขายต่อเท่านั้น โดยเฉพาะขยะประเภทถุงหรือฟิล์มพลาสติกชนิด PP และ PE ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ให้กลายเป็นของมีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ถือเป็นการแก้ปัญหาขยะได้อย่างตรงจุดและช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย และที่สำคัญคือช่วยสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และเตรียมขยายสู่ชุมชนในโครงการบ้านเอื้ออาทร และชุมชน ในจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/