สธ. นำร่อง 9 รพ.แพทย์แผนไทย-ชงแผนภูมิปัญญาไทเข้า ครม.เม.ย.
สธ.เดินเครื่องฟื้นฟูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ทุ่ม 10 ล้านนำร่อง 9 รพ. ตรวจรักษาผู้ป่วยทุกสิทธิสวัสดิการทั้งผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยในและในชุมชน ใช้เป็นสถานที่ฝึกนักศึกษาแพทย์แผนไทย เม.ย.เสนอแผนยุทธศาสตร์ภูมิปัญญาเข้า ครม. ปันงบสาธารณสุขร้อยละ 0.5 หนุนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ
วันที่ 23 มี.ค.54 ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยวัฒนานคร วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยวังน้ำเย็น และเปิดป้ายอาคารแพทย์แผนไทยเพ็ญนภา โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่ากระทรวงมีนโยบายฟื้นฟูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและสมุนไพร พัฒนาสู่ระบบสุขภาพแห่งชาติอย่างสมบูรณ์แบบ โดยในปี 2554 ได้คัดเลือกโรงพยาบาล 9 แห่งเป็นต้นแบบให้ บริการผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศ ได้แก่ 1.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 2.รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 3.รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 4.รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 5.รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 6.รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ 7.รพ.เทิง จ.เชียงราย 8.รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี และ 9.สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ยศเส กทม. ใช้งบพัฒนาแห่งละประมาณ 1 ล้านบาท รวม 10 ล้านบาท
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่ารูปแบบการดำเนินงานของทั้ง9โรงพยาบาลจะให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยผสมผสานเชื่อมโยงกับระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น เอ็กซเรย์ ตรวจเลือด การส่งต่อผู้ป่วย โดยจัดบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทย เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ เพิ่มแห่งละประมาณ 18 คน มีบริการทั้งผู้ป่วยนอก เช่นโรคสะเก็ดเงิน อัมพฤกษ์อัมพาต และบริการผู้ป่วยใน
โดยจะใช้ยาไทยทั้งยาเดี่ยวและสูตรตำรับที่มีส่วนผสมสมุนไพรหลายตัวที่มีทั้งในและนอกรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ เบื้องต้นมี 209 รายการ เพื่อรักษาผู้ป่วยทุกระบบทุกสิทธิสวัสดิการทั้งรักษาด้วยยา และการนวด การอบ การประคบสมุนไพร การดูแลหญิงหลังคลอด เช่น วิธีทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน บริการแพทย์แผนไทยนี้ สำหรับกรณีของผู้ป่วยในจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน จะบริการตามความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นหลัก
นอกจากนี้จะเผยแพร่ความรู้ ฝึกอบรมในชุมชน เช่น การออกกำลังกายด้วยท่าฤษีดัดตน การทำสมาธิ จัดทำห้องสมุดด้านการแพทย์แผนไทย ปลูกสวนสมุนไพร จำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และมีระบบการติดตามฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน เช่น โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ และใช้เป็นสถานที่ฝึกงานนักศึกษาการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีสอนประมาณ 20 สถาบัน และเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางคลินิกตามมาตรฐานสากล โดยจะประเมินผลการจัดบริการในปี 2556 เพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะสมก่อนขยายผลใช้ทั่วประเทศต่อไป
น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่าโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยวัฒนานคร ได้เปิดรักษาผู้ป่วยในมาแล้ว 4 เดือน มีผู้ป่วยเดือนละประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรัง โรคกระดูกและข้อ โรคมะเร็ง โดยจะมีแพทย์ แพทย์แผนไทย พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนโรงพยาบาลวังน้ำเย็น เป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่มีนำเอาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมาใช้รักษาผู้ป่วยอย่างจริงจังเป็นเวลากว่า 30 ปี ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โรง พยาบาลนำร่องเพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรในสถานบริการของรัฐให้ได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี ปัจจุบันผลิตยาได้ 52 รายการ เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานนิสิตนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศกว่า 12 แห่ง กว่า 200 คนต่อปี โดยอาคารแพทย์แพทย์ไทยที่วางศิลาฤกษ์วันนี้ จะแล้วเสร็จใน 5 ปี ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท
ขณะที่ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวในการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ว่าแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกปี 2550-2554 เป็นนโยบายสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านและแพทย์ทางเลือก ซึ่งความสำเร็จมีทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่ขณะเดียวกันก็มีอุปสรรค จึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และเป็นกรอบแนวทางมุ่งไปสู่การพึ่งตนเองด้านสุขภาพด้วยภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พญ.วิลาวัณย์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 มี 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การสร้างและจัดการความรู้ภูมิปัญญาไทย โดยจัดงบประมาณอย่างน้อยร้อยละ 0.5 ของงบด้านสาธารณสุขประเทศสนับสนุนการวิจัยแพทย์แผนไทย 2.พัฒนาระบบสุขภาพชุมชนท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายหมอพื้นบ้าน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้มีมาตรฐาน และพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยต้นแบบ
3.การพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์แผนไทย ทั้งในระบบการสืบทอดหมอพื้นบ้านตามวิถีดั้งเดิมและระบบสถาบันการศึกษา พร้อมกำหนดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังคน 4.พัฒนายาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยให้มีรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายการยาทั้งหมดจากปัจจุบันที่มีเพียง 19 รายการ รวมถึงส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านสมุนไพรของชุมชน จัดทำแผนอนุรักษ์สมุนไพร พัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 5.พัฒนาระบบและกลไกคุ้มครองภูมิปัญญาไทย การจัดทำข้อตกลงกับสำนักงานสิทธิบัตรระหว่างประเทศ สร้างบทบาทเชิงรุกในเวทีเจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย 6.การสื่อสารสาธารณะด้านการแพทย์แผนไทย
ด้านนายวิสุทธิ์ บุญยะโสภิต ผอ.สำนักสมัชชาสุขภาพ สช. กล่าวว่าแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกทำให้เกิดสถาบันสุขภาพวิถีไทย การจัดการความรู้ระบบภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านอีสาน สปสช.ยังได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาการแพทย์แผนไทย เพื่อจ่ายสมทบให้สถานบริการสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2550 โดยปี 2554 จัดงบรายหัวละ 6 บาท โดย 4.50 บาทสำหรับบริการนวดไทยเพื่อรักษาอาการปวด อัมพาต อัมพฤกษ์ การฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด และอีก 1.50 บาทส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไทฯฉบับที่ 2 คาดว่าใน เม.ย.นี้จะส่งเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ.
ที่มาภาพ : http://www.google.co.th/imglanding?q=การแพทย์แผนไทย