สปส.เล็งขยายคลินิกโรคจากการทำงานใน รพ.สังกัดมหา’ลัยทั่ว ปท.
ก.แรงงาน จับมือ ก.สาธารณสุข สร้างเครือข่ายคลินิกโรคจากการทำงาน 68 รพ.ทั่วประเทศ เล็งขยายโครงการสู่ รพ.ในสังกัดมหาวิทยาลัย ตัวแทนกรรมกรชี้ขาดประสิทธิภาพ เพราะขาดหมอเฉพาะด้าน
วันที่ 21 มี.ค. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานและสร้างเครือข่ายโครงการคลินิกโรคจากการทำงานให้กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 68 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจัดระบบการดูแลลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานและได้รับเงินทดแทน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากระทรวงแรงงานร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งโครงการคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อให้มีการดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดเนื่องจากการทำงานอย่างเป็นระบบ คือให้บริการตรวจรักษา วินิจฉัยโรค ให้การรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน รวมถึงเฝ้าระวังป้องกันโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน จึงได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งโครงการศูนย์โรคจากการทำงาน โดยมีโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นศูนย์ในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ จัดอบรมแพทย์และพยาบาลอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการ
รมว.แรงงาน กล่าวว่าตอนนี้มีผู้ใช้บริการคลินิกโรคจากการทำงาน 233,898 คน ซึ่งตัวเลขยิ่งน้อยเท่าไหร่ ประสิทธิภาพการทำงานยิ่งมีมากเท่านั้น ขณะนี้สามารถลดลงไปร้อยละ 2 จากปีที่แล้ว ซึ่งจะขยายการให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยจะขยายคลินิกโรคจากการทำงานไปยังโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องลดจำนวนของผู้เข้ารับรักษาด้วย ทั้งนี้ควรป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าการรักษา และปัจจุบัน สปส.มีเงินจากกองทุนทดแทนเพื่อนำไปเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน 30,000,000บาท
ด้านนางสมบุญ สีคำดอกแค เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าโครงการคลินิกโรคจากการทำงานต้องได้รับการพัฒนามาตรฐานในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เพราะขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานนั้น ซึ่งในประเทศมีเพียงไม่กี่สิบคน และมีเพียง 3 คนที่ประจำอยู่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ส่วนในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการต่างจังหวัดนั้น ไม่มีแพทย์เชี่ยวชาญด้านดังกล่าวเลย จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการผู้ประกันตนได้เต็มที่
“ที่ผ่านมาแพทย์ยังไม่กล้าวินิจฉัยโรค และไม่ระบุสาเหตุของการเกิดโรค ทำให้ผู้รับบริการไม่สามารถไปรักษาต่อ และในปีที่ผ่านมามีผู้รับบริการหลายพันคนโทรมาขอความช่วยเหลือจากเครือข่าย ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคโครงสร้างของกระดูก จึงขอเรียกร้องให้เพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าว โดยใช้งบ สปส.ส่งแพทย์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเป็นเวลา 4 ปี” นางสมบุญกล่าว.
ภาพประกอบจาก http://voicelabour.org/?p=2585