จากปล้นทองลพบุรีถึงกราดยิงโคราช! เปิดบทวิเคราะห์ตปท.ชี้ช่องโหว่กม.อาวุธปืนในไทย
"..การที่จะลดอาชญากรรมอันเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น รัฐบาลไทยควรจะสร้างแรงจูงใจในการลดความง่ายในการเข้าถึงปืนบนท้องถนน ซึ่งตรงนี้เป็นรูปแบบที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยทำสำเร็จมาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การลดจำนวนร้านปืนในแต่ละจังหวัด แบนการขายอาวุธสังหารรวมไปถึงปืนพก มาตรการตรวจสอบผู้ที่ต้องการจะครอบครองอาวุธปืนอย่างเข้มข้น ทั้งการสัมภาษณ์ครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน และการฝึกอบรมที่ศูนย์ยิงปืนอย่างเข้มข้น โดยต้องผ่านการฝึกด้วยคะแนนที่สูงมาก ทั้งหมดนี้ก็คือมาตรการที่ญี่ปุ่นได้เอามาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการเสียชีวิตด้วยปืนขึ้น..."
สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี นายทหารสังกัดกองสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองทัพภาคที่ 2 ก่อเหตุใช้ปืนส่วนตัวยิง พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส ผู้บังบัญชา และ นางอนงค์ มิตรจันทร์ แม่ยายของ พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ เสียชีวิต ก่อนเข้าปล้นอาวุธปืนสงครามจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ยิงทหารเวรอีก 3 นาย ขับรถฮัมวี่หลบหนีออกไป ทางวัดป่าศรัทธาธรรมด้านข้าง โรงเรียนบุญวัฒนา พร้อมยิงประชาชน และ บุกเข้ามาในห้างเทอมินอล 21 กราดยิงประชาชนที่มาใช้บริการภายในห้าง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 21 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือน ม.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นมาแล้ว เมื่อ นายประสิทธิชัย เขาแก้ว อายุ 38 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ ใช้อาวุธปืนเก็บเสียงบุกชิงทองร้านทองออโรร่า ในห้างโรบินสัน จ.ลพบุรี ยิงใส่ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 3 ราย ทั้งหนุ่มรปภ.ห้าง พนักงานร้านทอง เด็กชาย 2 ขวบ และบาดเจ็บสาหัสอีก 4 ราย
ทั้ง 2 เหตุการณ์สะทือนขวัญที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามถึงประเด็นการครอบครองอาวุธปืนกับการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาการครอบครองอาวุธปืนส่วนบุคคลจนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงหลายกรณี พบว่าในช่วงเดือน ส.ค. 2562 เว็บไซต์ Asean Today ซึ่งเป็นเว็บไซต์ชั้นนำของประเทศสิงคโปร์ เคยนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงปัญหาเรื่องการครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทยเอาไว้
โดยมีรายละเอียดดังนี้
@ข้อมูลสถิติ
ประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหากับการครอบครองอาวุธปืนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราการครอบครองอาวุธส่วนบุคคลสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วงปี 2559 พบว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีอัตราการก่อเหตุฆ่ากันตายด้วยอาวุธปืนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ และสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราฆ่ากันตายด้วยอาวุธปืนสูงยิ่งกว่าประเทศที่อันตรายอย่างแอฟริกาใต้ อิรัก และปากีสถาน
โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2559 มีกรณีพยายามฆ่ากันตายสูงถึง 3,300 กรณีอันเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน และในช่วงปี 2558-2559 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงถึง 1,729 ราย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าประเทศมาเลเซียมีผู้เสียชีวิตจากปืนแค่ 74 รายเท่านั้น และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียที่มีขนาดประชากรมากกว่าประเทศไทยถึง 4 เท่า พบว่ามีกรณีฆ่ากันตายอยู่ที่ 1,200 ราย ซึ่งส่วนมากกรณีการฆ่ากันตายในประเทศอินโดนีเซียนส่วนมากไม่ได้มาจากอาวุธปืน
ซึ่งรัฐบาลไทยก็พยายามที่จะแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมาย เพื่อลดความรุนแรงเหล่านี้ให้เป็นศูนย์ โดยมีการจับกุมและจำคุกผู้ที่ใช้อาวุธปืนก่อความรุนแรง ครอบครองปืนเถื่อนสูงถึง 30,000 ราย แต่ก็ยังมีประเด็นเรื่องช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายอยู่ ปืนที่พลเรือนครอบครองอยู่มีถึงสิบล้านกระบอก แต่มีปืนลงทะเบียนแค่ 6 ล้านกระบอก
ขณะที่การครอบครองปืนที่ถูกกฎหมายเป็นเรื่องง่าย แค่ผู้ซื้อไม่มีประวัติการกระทำผิดกฎหมายก็สามารถดำเนินการซื้อได้ผ่านขั้นตอนการกรอกเอกสารราชการพร้อมเอกสารรับรองการทำงานและเอกสารรับรองการเงินจากธนาคาร โดยขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์
@นโยบายควบคุมปืนไม่เป็นที่นิยมในฝ่ายการเมือง
แม้ว่าจะมีเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนในอัตราสูงมาก แต่ก็ไม่มีแรงผลักดันจากภาคสังคมไทยที่มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงนประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าว
และถ้าหากย้อนมองไปถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. 2562 ก็จะพบว่าในบรรดาพรรคการเมืองที่พยายามจะเสนอนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นโยบายเรื่องการครอบครองอาวุธปืน การลดความรุนแรงจากอาวุธปืนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยมาก
ในประเทศไทยการได้ครอบครองอาวุธปืน ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในสถานะทางสังคม ซึ่งกรณีนี้ก็ยิ่งจะเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมด้านอาวุธปืนของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน
“คนที่มีอาวุธปืนก็ควรจะเก็บอาวุธปืนเอาไว้ที่บ้าน แต่ว่าในปัจจุบันการมีปืนกลายเป็นเรื่องโอ้อวดกัน ถ้าหากอยากจะได้ความเคารพนับถือ ก็ต้องมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ซึ่งนี่เป็นการเสริมสร้างค่านิยมที่ผิดๆในประเทศไทย” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวกับ Asean Today
@แนวทางการแก้ปัญหา
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืนจนนำไปสู่ความรุนแรงของประเทศไทยนั้น ควรจะมุ่งเน้นไปที่การหวังผลเพื่อป้องกันอาชญากรรมมากกว่านี้
โดยในประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืนโดยถูกกฎหมายนั้นควรจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนลง แทนที่จะไปมุ่งเน้นที่การตรวจสอบประวัติภูมิหลังและฐานะทางการเงินเพียงอย่างเดียว ก็ควรที่จะมีมาตรการที่จะตรวจสอบถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ผู้ซื้ออาวุธจะใช้ปืนเพื่อป้องกันตัวเองด้วย
ซึ่งในประเด็นเรื่องเหตุผลอันสมควรแก่เหตุที่จะป้องกันตัวนั้น ก็ควรที่จะมีการทบทวนในกฎหมายไทยด้วย เพราะที่ผ่านมาการให้เหตุผล การครอบครองอาวุธปืนนั้น ก็เป็นการยากแก่การคาดเดาว่าอาวุธปืนนั้นจะถูกนำไปทำร้ายคนอื่นอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการครอบครองอาวุธปืนอย่างยั่งยืนในประเทศไทยนั้นจะเป็นรูปธรรมไม่ได้ ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องมุมมองและค่านิยมของสังคมไทยที่มีต่อการมีอาวุธปืน โดยเฉพาะการมองว่าปืนยังเป็นเครื่องมือที่ยอมรับได้สำหรับประชาชนทั่วไปที่จะหามาใช้งาน
ในการที่จะลดอาชญากรรมอันเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น รัฐบาลไทยควรจะสร้างแรงจูงใจในการลดความง่ายในการเข้าถึงปืนบนท้องถนน ซึ่งตรงนี้เป็นรูปแบบที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยทำสำเร็จมาแล้ว
โดยเริ่มตั้งแต่การลดจำนวนร้านปืนในแต่ละจังหวัด แบนการขายอาวุธสังหารรวมไปถึงปืนพก มาตรการตรวจสอบผู้ที่ต้องการจะครอบครองอาวุธปืนอย่างเข้มข้น ทั้งการสัมภาษณ์ครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน และการฝึกอบรมที่ศูนย์ยิงปืนอย่างเข้มข้น โดยต้องผ่านการฝึกด้วยคะแนนที่สูงมาก ทั้งหมดนี้ก็คือมาตรการที่ญี่ปุ่นได้เอามาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการเสียชีวิตด้วยปืนขึ้น
ส่วนมาตรการอื่นๆอาทิ การซื้อปืนคืน การออกภาษีปืนในอัตราสูง และการส่งเสริมการศึกษา ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยเหตุอาชญากรรมได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัยทัศนะคติของสาธารณชนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืน
เรียบเรียงจาก: https://www.aseantoday.com/2019/08/thailands-gun-culture-weak-oversight-and-an-affinity-for-firearms-sustain-ongoing-violence/
ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอแนะและทางแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน ก่อนเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่อเนื่องในสังคมไทย ณ ขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/