นายกฯเป็นประธานถกนัดแรก พัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ
ประชุมนัดแรก แจงภารกิจ “คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังสุขภาพแห่งชาติ” สวรส.ชี้ทางออกระยะยาวต้องจัดสมดุลงบสร้าง-ซ่อมสุขภาพ ตอนนี้ห่าง 10 เท่า
วันที่ 21 มี.ค.54 ที่อาคารรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังสุขภาพแห่งชาติ (คพคส.) โดยเป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการฯและตั้งสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ(สพคส.) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา 21 ก.ค.53
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพเป็นภารกิจสำคัญของรัฐตามรัฐธรรมนูญฯ ขณะเดียวกันก็เป็นภาระงบประมาณรัฐ เมื่อโครงสร้างประชากร ลักษณะโรค วิทยาการทางการแพทย์ และความคาดหวังของสังคมที่เปลี่ยนไป เพิ่มแรงกดดันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมคนไทยทั้งหมด แต่ยังต้องพัฒนาและดำเนินการเชิงรุกต่อไปอีก เพื่อให้มีความเป็นธรรมยั่งยืน
โดยแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือต้องจัดการให้มีการเงินการคลังด้านสุขภาพเพื่อสุขภาพ (Financing for Health) และการเงินการคลังเพื่อการจัดบริการสุขภาพ (Health care financing) ที่สมดุล ซึ่งธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ หมวด 12 ข้อ 111 ระบุว่าให้รัฐจัดให้มีกลไกระดับชาติทำหน้าที่วางแผนการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศในระยะยาว ติดตามประเมินผล รวมถึงสนับสนุนการวิจัยพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องโดยให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ จึงเป็นที่มาของคณะกรรมการฯ และสำนักงานที่ตั้งขึ้นใหม่
นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพแห่งชาติเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.3 ของจีดีพี โดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้นแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี โดยใช้งบประมาณของรัฐเป็นหลัก ในขณะที่ครัวเรือนไทยรับภาระสุขภาพลดลงจากร้อยละ 4.3 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 3.6 ในปี 2552 แสดงว่าประชาชนได้รับสวัสดิการสุขภาพที่ดีขึ้น แต่น่าเป็นห่วงที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ
อีกทั้งจะเห็นว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพ หรือการดูแลการเจ็บป่วยสูงกว่างบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถึง 10 เท่า มีการปรับลดงบประมาณเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าลดลงจากร้อยละ 20 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 12.6 ในปี 2554 นอกจากนี้พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพที่ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายเอง เป็นการจ่ายเพื่อบริโภคสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นการบริโภคเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น การดื่มนม สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความไม่สมดุลของแนวคิดและพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ที่ยังไม่มุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกัน แต่รอรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วย
ทั้งนี้ในอนาคตสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเร่งหามาตรการและการจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้ปัญหาการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งรวมถึงยาต่างๆอย่างไม่เหมาะสมหรือเกินจำเป็น กลายเป็นภาระงบประมาณที่สั่นคลอนความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
นายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) กล่าวว่าการทำงานของ สพคส.จะสนับสนุนให้คณะกรรมการฯ สามารถเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมบนฐานองค์ความรู้ทางวิชาการที่ชัดเจน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องการการออกแบบระบบและกลไกการขับเคลื่อนภาพรวมระดับชาติ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักร่วมกันทั้งในกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ฝ่ายวิชาชีพหรือผู้ให้บริการ และผู้รับบริการหรือประชาชนไทย ที่ต้องมีการปรับแนวคิดและพฤติกรรมสุขภาพไปพร้อมกัน
โดยกำหนดยุทธศาสตร์หลัก คือการพัฒนาข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับปรุง นโยบาย โครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ และกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง การพัฒนากลไกทางสังคมและการสื่อสารให้เกิดการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ และการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ และจัดการองค์ความรู้
ทั้งนี้ สพคส.เป็นองค์กรเฉพาะกิจภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีระยะเวลาทำงาน 3 ปี สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ในกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี .