มาฆะรักษ์โลก จากขยะพลาสติกสู่ “ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล”
ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิลนี้ เกิดจากการนำขยะขวดพลาสติกชนิดใส มาผ่านกระบวนการ Upcycling จนได้เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล แล้วนำมาถักทอรวมกับเส้นใยฝ้าย และเส้นใยซิงค์โพลิเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย ที่มีคุณสมบัติ ไม่ร้อน ไม่อับชื้น ซักแห้งไว และไม่ยับง่ายเวลาสวมใส่
ในวันประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรปราการ จัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์ สัปดาห์ส่งเสริมการเผยแผ่ พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ประจำปี 2563 โดยเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าวัด ทำบุญ ลด ละ เลิก อบายมุขทั้งปวง
วันนั้นนอกจากมีการมอบตราสัญลักษณ์สัปดาห์ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ประจำปี 2563 ให้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว นายกฯ ได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการ กิจกรรม “มาฆะรักษ์โลก” ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากเศษขยะ นั่นก็คือ “ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล” ของวัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
“เชาวนี พันธุ์พฤกษ์” ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานบริหารกิจการเพื่อสังคม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เล่าที่มาของภาพนายกฯ จับปลายผ้าจีวรมาดม หลังจากที่ได้แนะนำไปว่า ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล มาจากขยะพลาสติก
"นายกฯ ท่านสงสัยว่า มีกลิ่นไหม"
สำหรับการผลิตผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ GC เคยทำงานร่วมกับวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็น 1 ใน 7 คณะทำงานหลักของโครงการ OUR Khung BangKachao จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 จากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับ 34 องค์กรชั้นนำที่ร่วมกันดำเนินงานภายใต้ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้ากลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
จากการลงพื้นที่ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการขยะของคุ้งบางกะเจ้าอย่างต่อเนื่อง GC พบว่า วัดจากแดง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศูนย์รวมใจของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีความพร้อม ในการพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นศูนย์จัดการขยะครบวงจรและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า
พระมหาประนอม ธมฺมาลังฺกาโร รองเจ้าอาวาสวัดจากแดง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะของวัดว่า ช่วงแรกทางวัดจะกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบหรือเผา แต่เมื่อมีขยะมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มมีการแบ่งขยะเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย และขยะพลาสติก และชั่งน้ำหนักเก็บข้อมูล
สำหรับขยะอินทรีย์นั้น ทางวัดจะนำมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ ขยะอันตรายรวบรวมส่งให้กับ อบต. เพื่อกำจัดต่อไป ส่วนขยะพลาสติกจะนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันเตา ซึ่งไม่ค่อยคุ้มค่า
ต่อมาเมื่อพระมหาประนอมได้เข้าร่วมประชุมโครงการ OUR Khung BangKachao และเห็นคณะทำงานของ GC ใส่เสื้อที่ผลิตจากขยะขวดพลาสติกรีไซเคิล ท่านจึงเกิดคำถามว่า ถ้าสามารถนำขยะที่เป็นขวดพลาสติกมารีไซเคิลทำเป็นเสื้อได้ แล้วจะมาทำจีวรด้วยได้ไหม
จากนั้น GC จึงได้นำนวัตกรรมและองค์ความรู้ของบริษัทฯ เข้ามาช่วยวัดจากแดงพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนได้เป็นม้วนผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิลต้นแบบ เมื่อปลายปี 2561
หลายคนอาจสงสัยว่า พระสงฆ์สามารถนุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวรที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลได้หรือไม่
และทำไมจึงเรียกว่า “ผ้าบังสุกุลจีวร”
พระมหาประนอม อธิบายให้ฟังต่อว่า จีวรที่ถูกต้องตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ สามารถทำได้จากวัสดุ 6 ชนิดคือ เปลือกไม้ ฝ้าย ใยไหม ขนสัตว์ เปลือกป่าน และของผสมกัน ถึงแม้ว่าจีวรที่ GC พัฒนาขึ้นจะเป็นจีวรที่ผลิตมาจากขวดพลาสติก แต่พลาสติกนั้นได้มาจากปิโตรเคมี และปิโตรเคมี ก็เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ พิจารณาแล้วยังเข้าข่ายวัสดุที่นำมาทำเป็นจีวรได้
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า “ผ้าบังสุกุลจีวร” เป็นเพราะผ้าดังกล่าวผลิตมาจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งแล้ว ของที่ใช้แล้วทิ้งแล้วก็เทียบได้กับผ้าบังสุกุล โดยตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผ้าบังสุกุลหมายถึงการนำเศษผ้าจากกองฝุ่น กองขยะ รวมถึงผ้าห่อคลุมศพที่ถูกทิ้งแล้ว มาซัก เย็บ และย้อม จนกลายเป็นจีวรสำหรับนุ่งห่มนั่นเอง
ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิลนี้ เกิดจากการนำขยะขวดพลาสติกชนิดใส (PET) มาผ่านกระบวนการ Upcycling จนได้เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล (Recycled Polyester) แล้วนำมาถักทอรวมกับเส้นใยฝ้าย (Cotton) และเส้นใยซิงค์โพลิเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย (Antibacterial Polyester Zinc) ที่มีคุณสมบัติช่วยลดกลิ่นอับ ในสัดส่วนที่เหมาะสม จนกลายเป็นผืนผ้า นำไปย้อมเป็นสีพระราชนิยม ซึ่งเป็นสีจีวรพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9
หลังจากนั้น วิสาหกิจชุมชนวัดจากแดงก็จะนำผืนผ้าดังกล่าวไปตัดเย็บเป็นผ้าบังสุกุลจีวรอย่างดีและถูกต้องตามหลักพระวินัยต่อไป ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ต่างจากจีวรทั่วไปจึงทำให้จีวรรุ่นนี้นุ่งห่มสบาย ไม่ร้อน ไม่อับชื้น ซักแห้งไว และไม่ยับง่ายเวลาสวมใส่
ทั้งนี้ ผ้าจีวร 1 ผืน ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 15 ใบ และผ้าไตรจีวร 1 ชุด ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิลทั้งสิ้น 60 ใบ
ในวันที่พุทธศาสนิกชนร่วมนำขยะขวดพลาสติกจำนวนประมาณ 10 ตัน มาส่งโรงงานเพื่อนำไปผลิต เป็น “ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล” พระอาจารย์ ได้ให้พร
“อนุโมทนาบุญ ขอให้ชีวิตพบเจอแต่สิ่งสะอาด”
ในปัจจุบัน ทางวัดจากแดงได้มีการตัดเย็บและจำหน่ายผ้าบังสุกุลจีวรในราคา 2,000 บาท 2,500 บาท และ 4,000 บาท ผู้สนใจสั่งซื้อผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่วิสาหกิจชุมชนวัดจากแดง ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ 02-464-1122 หรือ 081-643-5175
นอกจากการตัดเย็บผ้าบังสุกุลจีวรแล้ว ทางวัดจากแดง ยังเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมในการทำบุญแบบรักษ์โลก ด้วยการเชิญชวนให้ช่วยกันเก็บสะสมขวดพลาสติกชนิดใส (PET) ขนาดใดก็ได้มาติดกัณฑ์เทศน์แทนการถวายเงินให้กับวัด หรือนำขวดมาบริจาคให้กับวัดโดยตรง แต่ถ้าใครไม่มีถุงสำหรับใส่ขวด หรือไม่สะดวกนำขวดมาบริจาคที่วัดด้วยตนเอง ก็สามารถโทรมาขอถุงจากวัด และแจ้งให้วัดส่งรถไปรับขวดได้เช่นกัน
นอกจากตัวขวด PET ใส ที่สามารถนำไปผลิตเป็นจีวรได้แล้ว ทางวัดก็จะมีการนำฉลากข้างขวดไปทำเชื้อเพลิง และนำฝาขวดไปทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือถนนลาดยางพลาสติก ส่วนเศษพลาสติกอื่นๆ ก็จะนำมาทำเป็นอิฐบล็อกปูพื้นต่อไป
ผ้าบังสุกุลจีวรรีไซเคิล จึงถือเป็นตัวอย่างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างวัดจากแดง ชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า และภาคธุรกิจอย่าง GC โดยมุ่งหวังแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ รวมทั้งพัฒนาสิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/