'สุวิทย์' มอบโจทย์มหาวิทยาลัยปั้นเด็กรุ่นใหม่นำเสนอแนวทางแก้ไขประเทศ
“สุวิทย์” เสนอ นโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับชาติ มอบโจทย์มหาวิทยาลัยปั้นเด็กรุ่นใหม่นำเสนอแนวทางแก้ไขประเทศ เร่ง สอวช. ปรับแผนเสนอผู้บริหารกระทรวง เตรียมประเทศใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นทางออกปัญหาเก่าและสร้างโอกาสสำหรับเศรษฐกิจใหม่
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกรรมการ และมี ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการเสวนาในประเด็นสำคัญอย่างการวิจัยเชิงระบบเพื่อการกําหนดนโยบายการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในประด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามที่ประธานที่ประชุมได้มอบหมายให้ สอวช. นําหลักการวิจัยเชิงระบบ (System Research) มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์วาระการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับระบบ อววน. เพื่อศึกษาให้เห็นภาพองค์รวมของทั้งระบบ (Holistic view) และวิเคราะห์ช่องว่างในระบบปัจจุบัน เพื่อนําไปสู่การกําหนดนโยบายในการออกแบบระบบใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structural changes) รองรับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงของโลกและของประเทศที่เกิดขึ้นแล้วและที่กําลังจะเกิดขึ้น โดยที่ประชุมได้ให้หลักการนําทางของการวิจัยเชิงระบบซึ่งประกอบด้วย 1) พิจารณาบริบทของโลก (Global context) ที่ส่งผลกระทบเชิงระบบต่อประเทศ 2) มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) รองรับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต และ 3) ออกแบบการปรับระบบนิเวศ (Ecosystem change) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ อย่างไรก็ตาม การดําเนินงานเรื่องดังกล่าว สอวช. ได้ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการกําหนดประเด็นการศึกษาวิจัยเชิงระบบ 9 ประเด็น คือ 1) การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) การปฏิรูประบบอุดมศึกษา 3) ระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 4) การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม5)ระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหาร6) การปฏิรูประบบเกษตรของไทย7) ระบบพลังงานในอนาคต8) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและ 9) การพัฒนาประชากรกับความหลากหลายของขั้นชีวิต (Multi-stage life)
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า สําหรับประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งนับเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนให้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำ กลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่ง สอวช. ได้ยกมาเป็นหนึ่งในประเด็นวิจัยเชิงระบบ เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญของบริบทโลก และมีเหตุผลจำเป็นที่ประเทศไทยควรทำเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเนื่องจากไทยยังมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในระดับที่ไม่สูงมากนัก ปัญหาขยะและของเสียต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ไทยยังมีการบริหารจัดการที่ไม่ถูกวิธี อีกทั้งเพื่อแสวงหาโอกาสในอนาคตจากมูลค่าของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดจนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีนโยบายที่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ด้วย อย่างไรก็ตาม จากการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นประเด็นวิจัยเชิงระบบ สอวช. ได้ดำเนินการทบทวนแนวทางการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากประเทศต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นในการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศฟินแลนด์ เพื่อทําความเข้าใจเกี่ยวกับแรงจูงใจ และแนวทางการกําหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือ/กลไกในการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งพบว่า ประเทศต่าง ๆ กําหนดนโยบายและแนวทางการดําเนินงานแตกต่างกันตามบริบทภายในประเทศ ปัญหาภัยคุกคามที่สําคัญ และโอกาสที่ประเทศคาดหวัง ทั้งนี้ ในด้านของประเทศไทยจึงจําเป็นต้องมีการกําหนดประเด็นสําคัญสําหรับการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและเป้าหมายการพัฒนา เพื่อใช้เป็นโจทย์ตั้งต้นในการกําหนดทิศทางการวิจัยเชิงระบบ และออกแบบนโยบายกลไกและมาตรการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
“สอวช. ได้จัดทำกรอบแนวคิด การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยผ่านแนวคิดการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นทางออกสำหรับปัญหาเก่า และสร้างโอกาสสำหรับเศรษฐกิจใหม่ โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทยได้ ต้องมีการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคม กฎหมายและกฑระเบียบ การสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน การสนับสนุนทางการเงิน องค์ความรู้และนวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศและได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย 8 เรื่อง คือ 1. ครบวงจรและปิดวงจร การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงจุดใดจุดหนึ่งของวงจร แต่ต้องออกแบบระบบตั้งแต่ต้นทางให้ครบวงจร และปิดวงจรได้ 2. ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และการจ้างงานโดยต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและโอกาสทางสังคมที่เพิ่มขึ้น 3. ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่มีอยู่เดิม และเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจใหม่ 4.ขยายตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศไทย 5. เริ่มทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคส่วนที่มีความพร้อม ทั้งในมิติผู้เล่นหลัก กฎระเบียบ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี 6. ต้องมีการวิเคราะห์และการจัดการผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 7. ตัวช่วยทางการเงินที่ใหม่และหลากหลาย โดยต้องทำความเข้าใจรวมทั้งให้แรงจูงใจกับนักลงทุนและธนาคารเพื่อให้เข้าใจแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและนำไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายเพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่นักลงทุน และ 8.การเชื่อมโยงธุรกิจกับองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ต้องมีการพัฒนากลไกเชื่อมโยงผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีความพร้อมในการทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่มีอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ” ดร. กิติพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจในหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องกลุ่มเยาวชนที่จะเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงในสังคม เพราะเป็นกลุ่มที่มีมุมมองและแนวคิดที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกรวมถึงนโยบายเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จะต้องเน้นการสร้างแรงจูงใจกับประชาชน ตลอดจนการขับเคลื่อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอยากให้มีการศึกษาประเด็นที่อาจเกิดผลกระทบต่อประเทศด้วย และต้องดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งระบบเข้ามาทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ในบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ประชุมยังเสนอให้เปลี่ยนชื่อวิชาหน้าที่พลเมืองให้เป็นแนวทางสร้างความตระหนักในสังคมด้วย
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ผมขอชื่นชมการนำเสนอการวิจัยเชิงระบบในประเด็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ที่ สอวช. ได้ศึกษาและนำเสนอในวันนี้ เพราะนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และเมื่อนำมาผนวกรวมกับความเห็นของที่ประชุมจะได้ข้อเสนอในมุมมองที่กว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สอวช. รวบรวมทุกข้อเสนอแนะและมานำเสนอในที่ประชุมผู้บริหาร อว. ในสัปดาห์หน้า เพื่อสร้างการรับรู้ว่าประเทศกำลังขับเคลื่อนเรื่องอะไร เพราะจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการสร้างการรับรู้ และอนาคตเราต้องใช้ศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่มาทำข้อเสนอนโยบาย ทำ Policy Pitchingต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาประเทศ และจากจุดเริ่มต้นของการวิจัยเชิงระบบในประเด็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ สอวช. ทำ ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะต้องมี National Economy Policy โดยเฉพาะของประเทศ ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายประชาคมโลกมาช่วยทำงาน
“เป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้สังคมเริ่มมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยน มีแรงปะทะเบา ๆ จากสองเจนเนอเรชั่น คือ รุ่นเด็ก ก็จะเริ่มไม่ยอมที่จะใช้พลาสติก ในขณะที่วัยผู้ใหญ่ก็มองถึงเรื่องความสะดวกสบายและความเคยชินแบบเดิม และในแง่ของผู้ประกอบการก็จะมองว่า การทำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิต ดังนั้นการทำในระดับนโยบายจึงต้องซูมลงไปให้ชัดๆ เพื่อจะได้เห็นคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน โดยให้เอาหัวหอก และผู้นำการเปลี่ยนแปลง เช่น บริษัท เอสซีจี ซึ่งได้เริ่มทำไปบ้างแล้ว ไปดูว่าเขาทำอย่างไร และสิ่งที่ทำได้เลยตอนนี้ คือการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นก่อนที่จะไปลงเทคนิค เพราะหลายคนเองก็ยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะภาครัฐจะต้องเริ่มทำก่อนและเข้าใจก่อน เพราะระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหัวใจคือ ความคิดที่อยากจะเปลี่ยน เราต้องมอบโจทย์ให้มหาวิทยาลัยทำแล้วมานำเสนอร่วมกัน ลองฟังไอเดียจากเด็กรุ่นใหม่ดูบ้างเพื่อให้เกิดแนวทางการทำงานร่วมกัน” ดร. สุวิทย์ กล่าว