โคโรนาพ่นพิษ! ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. ต่ำสุดในรอบ 69 เดือน
ม.หอการค้าเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. ต่ำสุดในรอบ 69 เดือน ผลพวงจาก "ไวรัสโคโรนา-งบประมาณล่าช้า-ภัยแล้ง"
เว็บไซต์ www.tnnthailand.com รายงานว่า วันที่ 5 ก.พ.63 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค.63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดไวรัสโคโรนา งบประมาณที่ล่าช้า ภัยแล้ง ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้มากขึ้นในอนาคต
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 67.3 จากเดือน ธ.ค. 62 ที่อยู่ในระดับ 68.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในรอบ 69 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ม.ค.อยู่ที่ 54.9 ลดลงจากเดือน ธ.ค.62 ที่อยู่ในระดับ 56.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 63.8 ลดลงจาก 64.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 83.0 ลดลงจาก 84.2
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.63 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ (ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก และกังวลกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเชิงลบในอนาคต อีกทั้งผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.63 นี้ นายธนวรรธน์กล่าวว่า อาจยังไม่สะท้อนความกังวลที่แท้จริงของผู้บริโภคต่อเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าในเดือน ก.พ.ผลสำรวจจะสะท้อนมุมมองของผู้บริโภคได้ชัดเจนมากขึ้นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความกังวลที่มีต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณการเติบโตที่ไม่โดดเด่น ประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน รถยนต์ ท่องเที่ยว รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ในช่วง 2-3 เดือน คิดเป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจราว 2.2 แสนล้านบาท (รวมทั้งกรณีของไวรัสโคโรนา, งบประมาณปี 63 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง) ส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ให้มีโอกาสลดลงราว 1.3% จากล่าสุดที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดประมาณการในโอกาสต่อไป
ที่มา : https://www.tnnthailand.com/content/28142?utm_source=social