ศาลอุทธรณ์ยืน คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 'จ่าประสิทธิ์' ซุกเสื้อเกราะ
เว็บไซต์www.dailynews.co.thรายงานว่า วันที่ 4 ก.พ. 2563ที่ห้องพิจารณา 901ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1937/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อายุ 53 ปี อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 15, 42 และรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
กรณีเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2553 เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถจำเลย พบมีเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกนิรภัยปราบจราจลซึ่งเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์โดยมิได้รับอนุญาต ที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าทหารปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. และขณะที่ ส.อ.ชนะยุทธ คมสาคร สังกัดกองทัพภาค 1 กำลังปฏิบัติหน้าที่ ได้มีคนร้ายมากกว่า 3 คนขึ้นไปร่วมกันใช้คันธงยาว 1 เมตร ตีประทุษร้ายและแย่งชิงหมวกนิรภัยปราบจลาจลราคา 3,745 บาท ที่ ส.อ.ชนะยุทธ ครอบครองที่ศีรษะไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวง - เขตดุสิต กทม. และที่อื่นเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
ศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 ให้จำคุก จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย ฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เป็นเวลา 1 ปี และจำคุกฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 เป็นเวลา 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
โดยวันนี้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย เดินทางมาศาลพร้อมภรรยา
ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยแล้ว พฤติการณ์ของจำเลยเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ซึ่งหมวกนิรภัยและเสื้อเกราะที่จำเลยรับไว้นั้น ได้มาจากการแย่งชิงจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันตัวตามที่อ้าง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยขอให้รอลงอาญานั้น ศาลอุทธรณ์พิจารณาพฤติการณ์ชุมนุมที่ปรากฏข่าว ทราบโดยทั่วไปว่ามีการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสของเจ้าหน้าที่ มิใช่มีแต่ผู้ชุมนุม ไม่ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย เปิดเผยว่า จะขอสู้คดีในชั้นฎีกาต่อ โดยเตรียมหลักทรัพย์มา 7 แสน เพื่อขอประกันตัว แต่หากการยื่นประกันสุดท้ายแล้วจะต้องส่งให้ศาลสูงพิจารณาคำร้อง แล้วส่งผลให้วันนี้ตนอาจต้องเข้าเรือนจำก่อน ตนก็ทำใจไว้แล้ว.