กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
"...ภายใต้แผนการคลังดังกล่าว รัฐบาลมีแผนจะกู้เงินระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบ 2563-67) สำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,396,800 ล้านบาท..."
เศรษฐกิจไทยปี 2563 เริ่มต้นได้มีค่อยสวยนัก หลังจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มีอันต้อง ‘สะดุด’ เพราะเหตุ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย ล่าสุด (2 ก.พ.) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้ว 14,380 คน ส่วนใหญ่อยู่ในจีน มีผู้เสียชีวิต 304 คน
“การระบาดของไวรัสโคโรน่า และพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ถือว่าค่อนข้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจปี 2563 เติบโตต่ำกว่าที่ธปท.เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 2.8%” ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ
นอกจากนี้ ธปท.มองว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร และส่งผลกระทบเชิงลบต่อการบริโภคเอกชน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปีนี้
ปัจจัยลบที่โหมกระหน่ำเศรษฐกิจไทย ยังทำให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งต่างทยอยปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง เช่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ปรับลดจีดีพีปี 2563 อยู่ที่ 2.5% จากเดิม 2.7% (กรอบ 2.5-3.5%)
ส่วนคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.5-3% ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจจะเติบโตต่ำกว่า 2%
“ไวรัสโคโรน่าไวรัสจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่นๆมาเที่ยวประเทศไทยน้อยลง เมื่อรวมกับปัจจัยงบปี 2563 ที่ล่าช้า และผลกระทบจากภัยแล้ง จะส่งผลทำให้จีดีพีไทยปีนี้โตเพียง 2% หรือน้อยกว่านั้น” กิริฎา เภาวิจิตร ผอ.วิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ ทีดีอาร์ไอ ระบุ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจวงเงินงบประมาณของรัฐบาล ที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการลงทุน ตลอดจนรับมือความเสี่ยงเฉพาะหน้า ผ่านแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2564-67) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา
พบว่าภายใต้แผนการคลังดังกล่าว รัฐบาลมีแผนจะกู้เงินระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบ 2563-67) สำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นวงเงินทั้งสิ้น 4,396,800 ล้านบาท
แบ่งเป็น 1.การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 1,799,888 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นแผนการกู้เงินระยะปานกลางที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติเห็นชอบแล้วเป็นเงิน 1,770,088 ล้านบาท
และ2.การกู้เงินเการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปีงบ 2563-67 เป็นเงิน 2,486,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินกู้โครงการอื่นๆอีก 110,912 ล้านบาท จะทำให้การกู้เงินส่วนนี้จะอยู่ที่ 2,596,912 ล้านบาท
“กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีภารกิจสำคัญในการกู้เงินให้ครบตามความต้องการกู้เงินในแต่ละปีเพื่อสนองนโยบายการคลังดังกล่าว และดูแลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP มีความยั่งยืนภายใต้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 60%” แผนการคลังระบุ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP แผนการคลังฉบับนี้ ประเมินว่าในปี 2567 หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 10,446,329 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48.6% ของ GDP เทียบกับสิ้นปีงบประมาณ 2562 ที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6,901,802 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.2% ของ GDP
แน่นอนว่าเมื่อมีแผนการ ‘ใช้เงิน’ ก็ต้องมีแผนในการ ‘หาเงิน’ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแผนการคลังดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
1.การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ เพื่อให้มีแหล่งรายได้ใหม่และขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม เช่น ปรับปรุงโครงสร้างภาษีการบริโภคสินค้าและบริการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงวิธีคำนวณ วิธีจัดเก็บ ค่าลดหย่อน และการยกเว้นภาษีบางประเภท ควบคู่กับการทบทวนมาตรการชั่วคราวต่างๆที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้
2.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ เพื่อให้จัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การขยายฐานภาษี เช่น การจูงใจให้ผู้มีรายได้ที่ไม่เคยอยู่ในระบบภาษีเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีและเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล รวมถึงสนับสนุนโครงการ ‘SMEs บัญชีเดียว’
“จะมีการผลักดันกฎหมายใหม่เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ อีกทั้งต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และกฎหมายจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม”
3.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพย์สินของรัฐ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการที่ราชพัสดุ เช่น ปรับปรุงแนวทางคำนวณค่าเช่าที่ราชพัสดุเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจ ติดตามให้รัฐวิสาหกิจนำส่งเงินรายได้ตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งปรับปรุงอัตรานำส่งกำไรให้เหมาะสม
ในขณะที่เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 5 ปี (ปีงบ 2563-67) ประกอบด้วย ปีงบ 2563 รายได้สุทธิ 2,731,000 ล้านบาท ปีงบ 2564 รายได้สุทธิ 2,777,000 ล้านบาท ปีงบ 2565 รายได้สุทธิ 2,819,000 ล้านบาท ปีงบ 2566 รายได้สุทธิ 2,913,000 ล้านบาท และปีงบ 2567 รายได้สุทธิ 3,031,000 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานด่านควบคุมโรค ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 ที่มา : thaigov.go.th
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสำคัญๆ เช่น ธปท. มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องปฏิรูปการด้านรายจ่ายงบประมาณ โดยพิจารณาลดรายจ่ายประจำลง เพื่อให้มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมในโครงการลงทุนที่จะสร้างแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจสูง (High Multiplier)
ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอว่า นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และขยายฐานภาษีแล้ว รัฐบาลควรลดข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายในอนาคตที่จะมีมาจากการ ‘เพิ่มขึ้น’ ของภาระดอกเบี้ยจ่าย โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินต้นเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ระบุว่า จะติดตามและควบคุมภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ในแต่ละปีงบประมาณไม่ให้เกิน 10% จากปัจจุบันที่ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ที่ 6.5% เพราะเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ พบว่า หากภาระดอกเบี้ยสูงเกิน 10% จะส่งผลต่อการจัดงบประมาณ โดยเฉพาะการปรับลดงบลงทุน
เหล่านี้ คือ ‘กระสุน’ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตระเตรียมไว้ สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันนี้ต่อเนื่องไปอีก 5 ข้างหน้า แต่นั่นก็แลกมาด้วยการกู้เงินจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว
อ่านประกอบ :
‘กสิกรไทย’ คาด ‘ไวรัสโคโรน่า’ ยืดเยื้อ 3 เดือน ฉุดจีดีพีจีนโตต่ำกว่า 5%
‘ไวรัสโคโรน่า-งบปี’63 ช้า’ ฉุดศก.ไตรมาสแรก ‘ลงลึก’ แบงก์ชาติจ่อหั่นจีดีพีต่ำ 2.8%
เสวนาอิศรา-บสส. หาทางรอด ปท. กรณ์ จี้ รบ.ยอมรับ ศก.มีปัญหาจริง แนะแก้ไขด้วยกระจายรายได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/