ชีพจรส่งออกข้าวปี 63 แผ่ว ปมราคาทยานทิ้งห่างคู่แข่ง
ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยปีละ 30 ล้านตันข้าวเปลือกเมื่อสีแปรสภาพเป็นข้าวสารก็จะได้ข้าวประมาณ 20 ล้านตัน แบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 10 ล้านตันและส่งออก10 ล้านตัน ดังนั้นไทยจึงเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างไม่ยาก
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com รายงานว่า ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ออกมาระบุถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย ปี2563 ว่าเป็นอีกปีที่ยากลำบากสำหรับการส่งออกข้าวไทย เพราะปัญหาหลักคือเงินบาทแข็งค่ามาก ทำให้ราคาส่งออกไม่สามารถแข่งกับผู้ส่งออกจากหลายประเทศได้ โดยเฉพาะเวียดนาม
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยพฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยน โดยเฉพาะจีน ที่เริ่มนำข้าวในสต็อกออกมาขายทำให้ตลาดสำคัญ ได้แก่ แอฟริกา หันไปซื้อข้าวจากจีน ที่มีแต้มต่อที่ดีกว่าไทยขณะที่ไทยราคาข้าวสูงและเงินบาทแข็งค่า
พฤติกรรมของผู้ซื้ออย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งยกเลิกระบบการให้โควตาข้าวที่ก่อนหน้านี้จะกำหนดไว้เฉลี่ยปีละ 1-2 แสนตัน โดยฟิลิปปินส์นำระบบการซื้อแบบเสรีมาใช้ทำให้การแข่งขันด้านราคาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจซื้อ ซึ่งไทยมีโอกาสเสียตลาดนี้ให้เวียดนาม ที่มีราคาส่งออกข้าวต่ำกว่าไทยเกือบตันละ 100 ดอลลาร์
โดยราคาส่งออกขาว 5% (เอฟโอบี)ของไทย เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.)ในปี 2562 ตันละ 417 ดอลลาร์ ส่วนราคาเวียดนามสำหรับข้าวชนิดเดียวกัน อยู่ที่ตันละ 340 ดอลลาร์
ด้านตลาดอย่างอินโดนีเซีย ที่แม้จะคงนโยบายพึ่งพาตัวเองด้านความมั่นคงทางอาหารแต่ก็เชื่อว่าปี 2563 น่าจะมีการนำเข้าอีกหลายแสนตัน แต่ไทยก็น่าจะเสียตลาดนี้ให้คู่แข่งอีกเพราะปัจจัยเดิมๆ
“ปี2563 คาดว่าไทยน่าจะส่งออกข้าวประมาณ 7.5-8 ล้านตัน แต่อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เพราะปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งสมาคมฯกำลังหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการส่งออกและประเมินสภาพตลาดที่ชัดเจนก่อนกำหนดเป้าหมายการส่งออกสำหรับปีนี้ต่อไป”
สำหรับการส่งออกปี 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณรวม7.58ล้านตันลดลง 32.51%มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลง25.89%ต่ำสุดในรอบ 6ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่ส่งออกขณะนั้นมีปริมาณเพียง 6.6 ล้านตัน
หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เวียดนามอาจแซงหน้าไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวสูงสุดของโลก เนื่องจากเวียดนาม ส่งออกข้าวเฉลี่ยปีละ 6-7 ล้านตัน และเมื่อมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งค่าเงินด่องที่มีเสถียรภาพ และปัจจัยผลผลิตดีซึ่งตรงข้ามกับไทยที่กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งที่แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปปริมาณผลผลิตที่เสียหายได้ แต่ก็เชื่อว่า ปีนี้ไทยคงม่ีผลผลิตไม่สูงมากเท่าที่ควร
“ปัจจัยสนับสนุนต่างๆแม้ไม่ได้ทำให้เวียดนามส่งออกข้าวได้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่การที่ไทยเผชิญปัญหาทั้งเรื่องราคา ปริมาณผลผลิตที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งก็ทำให้เป็นห่วงว่าปี2563 ไทยอาจเสียเเชมป์อีก”
สำหรับประเทศผู้ส่งออกข้าวสูงสุด (ปี2561) ได้แก่อันดับหนึ่งได้แก่ไทย รองลงมาคืออินเดีย ปริมาณ11.6 ล้านตัน เวียดนามปริมาณ 6.9 ล้านตัน ปากีสถานปริมาณ 3.2 ล้านตัน สหรัฐ ปริมาณ 3.1 ล้านตัน และจีน ปริมาณ 2.06 ล้านตัน
ชูเกียรติ ย้ำอีกว่า ข้าวของไทยยังเผชิญกับปัญหาขาดการพัฒนาพันธุ์ข้าวทั้งเพื่อให้มีปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตได้ที่เฉลี่ยไร่ละ 400 กิโลกรัม (กก.)ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยไร่ละเกือบ 1,000 กก.สวนทางกับพื้นที่การปลูกข้าวของไทยที่ลดลงทำให้แนวโน้มราคาข้าวของไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นอัตราก้าวกระโดดที่สูงกว่าคู่แข่ง
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เผยถึงราคาส่งออกข้าวย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่ ตันละ 386 ดอลลาร์ ในปี 2558 จนถึงขณะนี้ ม.ค. 2563 ข้าวไทยอยู่ที่ตันละ 459 ดอลลาร์ หรือสูงขึ้นมาเกือบ 100 ดอลลาร์ต่อตัน
ขณะที่การพัฒนาด้านคุณภาพข้าวไทยไม่ได้มีการปรับตัวในทางที่ดีขึ้น ขณะที่ เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา มีพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ดีสามารถชนะการประกวดหลายเวที ด้วยคุณสมบัติเนื้อนุ่ม หอม เมล็ดสวย ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะของข้าวหอมมะลิไทย ที่เคยมี ส่วนผู้ผลิตข้าวหน้าใหม่อย่างเมียนมา ก็กำลังมีปริมาณผลผลิตสูงใกล้เคียงกับไทย และมีคุณภาพที่ดี มีราคาที่แข่งขันได้
“เมื่อลูกค้าได้ไปลองข้าวของประเทศอื่น และหากติดใจ ก็ยากที่จะเรียกกลับคืนมา ส่วนทำไมลูกค้าเราเปลี่ยนใจไปลองข้าวจากที่อื่น ตอบได้เลยว่า เพราะราคาที่ถูกกว่ากันมากนั่นเอง”
การซื้อข้าวปริมาณมากๆ ผู้ซื้อเองก็ต้องตอบโจทย์ว่าทำไมต้องซื้อข้าวไทย เดิมไทยเคยมีค่าพรีเมียม ที่ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งเพราะคุณภาพ และศักยภาพการส่งมอบให้ลูกค้าที่ดีกว่าผู้ส่งออกจากประเทศอื่น แต่ปัจจุบันค่าพรีเมียมดังกล่าว มีความหมายน้อยลง จะเห็นว่าแม้ข้าวไทยอยู่ในจุดเดิมแต่เมื่อคู่แข่งมีการพัฒนาขึ้นมาจะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านราคากำลังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการค้าข้าวในปี2563 ส่วนการวางแผนเพื่อพยุงการส่งออกข้าวของไทยในระยะยาวเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและร่วมมือกันทำงาน