ยูนิเซฟเผย แม่และเด็กแรงงานข้ามชาติอพยพในไทย กลุ่มเสี่ยงขาดหลักประกันสุขภาพ
ยูนิเซฟเผย มีแรงงานข้ามชาติในไทยราว 1 ล้านคนที่ไม่ได้ลงทะเบียน ส่วนใหญ่ผู้พึ่งพิงของแรงงานถูกกฎหมายที่เป็นแม่และเด็ก ขาดหลักประกันสุขภาพเพราะไม่มีสถานะทางกฎหมาย หรือแม้แต่แรงงานอพยพถูกกฎหมายเองก็ยังพบว่าเข้าถึงความคุ้มครองทางสุขภาพในระดับต่ำอยู่
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2563 มีการจัดประชุมหัวข้อย่อย หัวข้อ “การให้ความช่วยเหลือแก่แม่และเด็กแรงงานข้ามชาติอพยพในปัจจุบัน”
นายฮวน ซานตานเดอร์ (Juan Santander) รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บรรยายจากหลายหน่วยงาน กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ การอพยพย้ายถิ่นฐานของคนจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนเรียกได้ว่า เป็นศูนย์รวมหลักแห่งหนึ่งของแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านทุกชาติ ยกเว้นประเทศมาเลเซีย
นายฮวน กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง สังเกตได้จากการพัฒนาเรื่องการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและป้องกันโรคของประชากร ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ติดเชี้อเอชไอวี และโรคเอดส์ ที่สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 10 ถึง 20 ปีที่ผ่านมานี้
นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายที่ใจดีเป็นอย่างมาก ๆ ต่อแรงงานข้ามชาติที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศ ทั้งในด้านการคุ้มครอง การให้การศึกษาที่นับว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทว่าในแง่ของการคุ้มครองทางสุขภาพต่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มแม่และเด็กนั้น ยังถือว่ายังล้มเหลวอยู่
ในประเทศไทยมีจำนวนคนข้ามชาติอพยพเข้ามาอยู่ ประมาณ 4 ล้านคน และประมาณเพียงแค่ 3 ล้านคนเท่านั้นที่มีเอกสารยืนยันตัวตน หรือได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมากเป็นชาวเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ส่วนอีก 1 ล้านคนที่เหลือที่ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น เกือบทั้งหมด เป็นแม่และเด็กที่อพยพตามเข้ามา
เฉพาะจำนวนเด็กลูกแรงงานอพยพอย่างเดียวคาดว่ามีอยู่ประมาณ 300,000 ถึง 400,000 คน ส่วนใหญ่ก็นับรวมอยู่ในกลุ่ม 1 ล้านที่ไม่ได้ลงทะเบียนนั่นเอง โดยเหตุผลหลักที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ระบบเอ็มโอยูที่นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ไม่ได้อนุญาตให้ แรงงานทักษะต่ำที่ถูกกฎหมายเหล่านั้น นำผู้พึ่งพิงเข้ามาด้วยได้ ซึ่งในกรณีนี้คือ ภรรยา และลูก ทั้งนี้หากแรงงานคนใดมีลูกระหว่างอยู่เมืองไทย เด็กที่เกิดมาใหม่เหล่านั้นก็กลายมาเป็นต่างด้าวที่ไม่ได้ลงทะเบียนไปโดยอัตโนมัติ
นายฮวน กล่าวต่อว่า กระทั่งในกลุ่มที่เป็นแรงงานอพยพที่ลงทะเบียนแล้วก็ตาม อัตราการครอบคลุมของความคุ้มครองทางสุขภาพยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่ คิดเป็นอัตราส่วนแค่ประมาณ 2 ใน 3 เท่านั้นเอง แต่หากมองเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้ลงทะเบียนโดยเฉพาะแล้ว อัตราการครอบคลุมของความคุ้มครองทางสุขภาพ ก็ยิ่งเหลือน้อยเพียงแค่ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นเอง และหากเจาะลงไปเฉพาะกลุ่มเด็กแล้ว อัตราครอบคลุมก็น้อยเข้าไปอีก โดยเหลือเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นเอง
ทั้งนี้ถึงแม้จะมีโครงการประกันสุขภาพ ที่เน้นไปที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งเก็บเงินในอัตราที่ถูกมาก ๆ ประมาณวันละเพียง 1 บาท แต่ก็มีเด็กเพียงแค่ 30,000 คนเท่านั้นที่ลงทะเบียนในโครงการนี้ เหตุผลประการหนึ่งก็เพราะว่า เด็กเหล่านั้นไม่ได้ลงทะเบียนต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายเวลาจะไปโรงพยาบาลก็อาจจะไปไม่ได้ก็ได้เพราะไม่มีบัตรประจำตัวไปแสดง ทำให้คนเหล่านี้กลัวที่จะไปขอรับบริการ กระนั้นก็ตามแม้แต่คนที่ลงทะเบียนก็เช่นกัน การจะไปใช้บริการสุขภาพจริง ๆ จัง ๆ ก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ อาจจะด้วยเพราะเรื่องราคาค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะแพงไปสำหรับคนกลุ่มนี้ และอีกอย่างการซื้อประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่ไปยึดโยงกับพื้นที่ลงทะเบียน ก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างสำหรับผู้ที่ย้ายที่อยู่ที่ทำงาน ที่ต้องเสียเงินอีกรอบเมื่อย้ายไปที่ใหม่ ตรงนี้อาจทำให้หลายคนไม่อยากซื้อ โดยเฉพาะคนที่ยังหนุ่มอยู่และคิดว่าตัวเองแข็งแรงพอ ที่จะไม่เจ็บป่วยหนัก ๆ
นายฮวน กล่าวว่า นโยบายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจำเป็นต้องปฏิรูปเสียใหม่ โครงการปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้ผลในการรับประกันการเข้าถึงบริการของต่างด้าวที่เป็นผู้พึ่งพิงของแรงงานข้ามชาติอพยพ หนำซ้ำยังอาจไม่ได้ผลเพียงพอสำหรับคนที่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมายจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยบริการที่จำเป็นอย่างเช่นการให้การรักษากรณีฉุกเฉิน การให้วัคซีนป้องกันโรค คนต่างด้าวอพยพเหล่านี้ควรจะได้รับในรูปแบบที่เหมาะสมกว่าการให้ตามหลักมนุษยชน
ในประเทศไทยมี โรงพยาบาลตามแนวชายแดนแห่งหลัก ๆ อยู่ 5 แห่งด้วยกัน ซึ่งในแต่ละปีโรงพยาบาลเหล่านี้ได้งบประมาณกันเพียงปีละ 1 หรือ 2 ล้าน ทำให้ขีดความสามารถในการให้บริการแก่ต่างด้าวที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ มีจำกัดเป็นอย่างยิ่ง
“ยูนิเซฟประเทศไทย ได้ทำโครงการริเริ่มนำร่องโครงการหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นการให้การดูแลสุขภาพที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ช่วยให้คนต่างด้าวที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยสามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ในโรงพยาบาลชายแดนจำนวน 4 แห่ง” นายฮวน กล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ มาเรีย นิลส์ซัน (Maria Nilsson) จากผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยอูเมีย ประเทศสวีเดน กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่า ทั่วโลกมีผู้ต้องกลายมาเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจำนวนมากถึง 1 พันล้านคน อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบกับเรื่องการอพยพเท่านั้นหากแต่ยังมีผลต่อปัญหาสุขภาพของคนที่มีความเสี่ยงรับผลกระทบสูงอยู่แล้ว อย่างหญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก ๆ ด้วย