นักระบาดวิทยาฮ่องกง "มั่นใจ" ไทยรับมือ "ไวรัสอู่ฮั่น" ได้ดี
คณบดีแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยฮ่องกงชี้จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังไม่มาก สะท้อนระบบเฝ้าระวังทำได้ดี ย้ำ “ข่าวปลอม” น่ากลัวไม่แพ้การระบาดของโรค
วันที่ 30 ม.ค.63 ที่โรงแรมเซนทารา แอท เซนทรัลเวิลด์ นพ.กาเบรียล เหลียง (Gabriel Leung) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี พ.ศ.2563 ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนแผ่นดินใหญ่ต้องทำก็คือ สร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ามาในไทย อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะยังคงมีการเดินทางข้ามระหว่างประเทศต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการปิดการเชื่อมต่อ
“ผมได้บอกกับท่านรองนายกฯ ว่า หลังจากนี้ อาจมีการพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศต่อไป สิ่งสำคัญก็คือ ต้องควบคุมการติดต่อ ไม่ให้มีการติดเชื้อต่อไปยังคนไทย หรือมีการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ระบบการควบคุม - กักกันโรค ต้องทำต่อไป และต้องทำให้ดีที่สุด จากมาตรการขณะนี้ เชื่อว่าไทย สามารถทำได้ดี เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังถือว่าไม่มากนัก” นพ.กาเบรียล ระบุ
ทั้งนี้ นพ.กาเบรียล ได้เสนอแนะให้สร้างระบบตรวจผู้มีโอกาสติดเชื้อ และเข้มข้นขึ้นในการตรวจอาการผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ แม้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ก็ควรจะแยกตัวไว้กักกันโรค และตรวจหาเชื้อโคโรน่าไวรัสอย่างต่อเนื่องทุกวัน
“โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต่างจากโรคซาร์สชัดเจน เพราะผู้ติดเชื้อซาร์ส จะไม่แพร่เชื้อต่อ จนกว่าจะพบไข้สูง และจะใช้เวลาฟักตัว 7 วัน หลังจากติดเชื้อ ถ้าโรคนี้เป็นเหมือนซาร์ส จะเป็นเรื่องง่ายในการควบคุม เพราะแพทย์จะรู้แน่นอน หากผู้ติดเชื้อรู้สึกว่าอาการไม่ดี แต่หากโคโรน่าไวรัส 2019 เป็นเหมือนไข้หวัด จะควบคุมได้ยากมาก เพราะผู้ป่วยไม่ได้แสดงอาการที่ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่เขาเริ่มเจ็บคอ ก็หมายความว่า โรคนี้พร้อมจะแพร่เชื้อต่อแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการควบคุมให้อยู่มือ เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกห้องกักกัน - ควบคุมโรคให้มิดชิด และต้องตรวจเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน” นพ.กาเบรียลกล่าว
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของคนทำเรื่องระบาดวิทยา มักจะเจอการระบาดเพียง 1 ครั้งในช่วงชีวิต แต่สำหรับเขาถือว่าโชคดี เพราะได้เจอมากถึง 5 ครั้งแล้ว เริ่มตั้งแต่โรคซาร์ส ในปี 2546 โรคไข้หวัดนก H5N1 ในปี 2547 โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ปี 2552 โรคไข้หวัดนก H7N9 ในเซี่ยงไฮ้และพื้นที่รอบ ๆ เมื่อปี 2556 และหากนับโรคโคโรน่าไวรัส 2019 ก็ถือว่าเป็นครั้งที่ 5 แล้ว
“อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดโรคระบาดในอดีต ครั้งนี้ถือว่าดีกว่ามาก เพราะสามารถตรวจเชื้อได้ค่อนข้างเร็ว และสามารถลดจำนวนผู้ที่ป่วยหนักได้รวดเร็วกว่า ดีกว่า” นพ.กาเบรียลกล่าว
นพ.กาเบรียล กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีอนุทิน ได้พูดอยู่คำหนึ่งว่า การต่อสู้กับโคโรน่าไวรัส 2019 ไม่ได้มีศัตรูคือ “การระบาด” ของโรคเท่านั้น แต่ยังต้องสู้กับ “ข่าวปลอม” และโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้การควบคุมโรค เป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น และกลายเป็น “ความท้าทาย” ที่ควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาด
สำหรับคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือต้อง “ตื่นตัว” อยู่เสมอ เพราะการแพร่ระบาดสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ปกป้องตัวเอง ไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงของการติดเชื้อ และทำใจให้สงบ นอกจากนี้ยังควร “มีสติ” ในการรับข้อมูลข่าวสาร ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลทั้งจากสื่อ และจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่อุทิศตัวตลอดชีวิต ในการทำให้ประเทศนี้ปลอดโรค
“สิ่งที่ควรทำ อันดับแรกก็คือ ล้างมือสม่ำเสมอ และหากจะต้องไปในที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ก็ใส่หน้ากากอนามัย และที่สำคัญคือห้ามจับมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าการระบาดของโรคจะสิ้นสุด” นพ.กาเบรียล กล่าว