ไวรัสอู่ฮั่น - FAKE NEWS ดีอีเอาจริงดำเนินคดีผู้โพสต์ ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่
การโพสต์ข้อมูลใดๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ จำเป็นต้องคิดก่อน เพราะบ้านเรามี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 นั้น ระบุ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ วันนี้ได้แพร่ระบาดไปไม่ต่ำกว่า 15 ประเทศทั่วโลกแล้ว ขณะที่การรับมือสถานการณ์ในบ้านเรา ตัวเลข ณ วันที่ 30 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขของไทย ยืนยันพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย (กลับบ้านแล้ว 6 ราย อีก 8 รายนอนโรงพยาบาล) โดยไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย
จึงถือได้ว่า ปัจจุบันในประเทศไทยจะยังไม่พบการระบาดของโรค
แต่ที่ระบาดหนักกว่าไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น เห็นจะเป็นข้อมูลข่าวสาร ข่าวลวง ข่าวลือ และข้อมูลผู้ป่วยทางสื่อออนไลน์ ซึ่งล้วนมาจากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ จนสร้างความตื่นตระหนก เมือ่เร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงจัดการเอาผิดผู้โพสต์ แชร์ข่าวลวงไวรัสโคโรน่าแล้วจำนวน 7 ราย เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่สังคม
การโพสต์ข้อมูลใดๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ จำเป็นต้องคิดก่อน เพราะบ้านเรามี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 นั้น ระบุ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม ( 1)(2) (3) หรือ (4)
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
ล่าสุด นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงสดๆ ร้อนๆ ผลการปฏิบัติการเอาผิดกับผู้ปล่อยข่าวปลอมประเด็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยมีการยกตัวอย่าง ผู้กระทำความผิด 2 ราย เชิญตัวมาที่กระทรวงฯ รับสารภาพว่า ตัดและแชร์คลิปปลอมจริง ซึ่งจากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป
ส่วนรายที่ 3 โพสต์และแชร์เรื่องไวรัสโคโรน่า มีคนเสียชีวิตที่ภูเก็ต สร้างความตื่นตระหนักให้นักท่องเที่ยวและประชาชน รมว.ดีอี บอกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นที่จังหวัดภูเก็ต ไม่เจอตัว และปิดเพจหนีไปแล้ว อยู่ระหว่างการติดตามบุคคลดังกล่าวอยู่
อีกรายที่นายพุทธิพงษ์ ยกเป็นตัวอย่าง คือผู้กระทำผิดที่โพสต์ภาพข่าวที่เกิดขึ้นกลางสนามบินสุวรรณภูมิของไทย มีการแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก และถือเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง กระทรวงดิจิทัลฯ ตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง และได้ชี้แจงที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
"รายนี้ชุดสืบสวนกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด" นายพุทธิพงษ์ ระบุ และว่า การแชร์ข้อมูลต่อๆ กัน เช่น แชร์ข่าวมีคนเสียชีวิตที่พัทยา มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) เช่นกัน เราพบว่า คนแชร์ต่ออยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ทีมชุดปฏิบัติการได้สอบสวน และนำไปสู่การดำเนินการทางคดีต่อไป รวมถึงสาวที่เชียงใหม่ โพสต์ข้อมูลบิดเบือนจนสร้างความตื่นตระหนกด้วย
"15 จุดที่ชุดปฏิบัติเข้าจับกุมผู้กระทำผิด 6 รายพบตัว 2 รายมีความผิดเป็นผู้นำเข้า ที่เหลือกำลังติดตามทั้งที่เชียงใหม่ ภูเก็ต และอีกหลายๆ จังหวัด"
สำหรับความยากการหาต้นตอข่าวลวงไวรัสโคโรน่านั้น รมว.ดีอี ยอมรับว่า การหาข้อมูลนำเข้าข้อมูลเป็นเท็จว่าอยู่ที่ไหน เพราะการลงทะเบียนใช้โซเชี่ยลมีเดียไม่ได้บังคับให้ต้องใช้ชื่อ นามสกุุล ที่อยู่จริง หลายกรณีใช้ชื่อเพื่อน ยืมชื่อคนอื่น จึงไม่ง่ายที่เจ้าหน้าที่จะติดตามเจอตัวผู้กระทำผิด
"เราไม่ได้คิดเองทำเอง มีการออกหมายจับ หมายค้นทุกราย ขั้นตอนจึงไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ มีข้อมูลยืนยัน ขอศาล และทำเต็มที่ FAKE NEWS เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่กับทัังโลกก็เจอเรื่องนี้หมด เราพยายามเร่งและปรับให้เข้าสถานการณ์ที่สุด"
สุดท้าย นายพุทธิพงษ์ ชี้ว่า แต่ละวันข่าวปลอมมีเป็นพันเป็นหมื่นต่อวัน กระทรวงฯ เลือกกรณีที่มีการแชร์กันเยอะๆ ซึ่งส่วนใหญ่กระทำความผิดโพสต์ลงเฟชบุค
นี่เป็นมิติการบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นครั้งแรกที่ดีอีดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เอาจริงเอาจัง ฉับไว จัดการ FAKE NEWS ต้นทาง และคนแชร์ข่าวปลอม หวังป้องปรามไม่ให้เกิดการส่งต่อข้อมูล จนทำให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรน่าเวลานี้..
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/BeePunnakanta/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :ระบาดมากกว่าโรคซาร์ SCMP ชี้ไวรัสโคโรน่า ยอดเสียชีวิตพุ่ง 132 คนแล้ว
สหประชาชาติ ชมจีนพยายามคุมการระบาดไวรัสโคโรน่า-ยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 106 คนแล้ว ไทยเจอเพิ่มอีก 6
เปิดแผนที่แบบเรียลไทม์ แสดงการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า
จีนประกาศยอดเสียชีวิตไวรัสโคโรน่า เพิ่มเป็น 80 ราย-นายกฯหลี่ เค่อเฉียง ลงพื้นที่อู่ฮั่น
ไวรัสโคโรนา : ความท้าทายใหม่ของมนุษย์