สภายุโรปให้สัตยาบันกฎหมายเบร็กซิต
ที่ประชุมสภายุโรปให้สัตยาบันรับรองกฎหมายเบร็กซิต ขั้นตอนเป็นทางการลำกับสุดท้าย ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพในวันที่ 31 ม.ค. นี้
เว็บไซต์ www.dailynews.co.th อ้างอิงสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ว่าสภายุโรปมีมติในการประชุมเมื่อวันพุธด้วยเสียงข้างมาก 621 ต่อ 49 เสียง ให้สัตยาบันต่อกฎหมายเบร็กซิต ซึ่งนายชาร์ล มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป และนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ลงนามเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นฉบับเดียวกับกฎหมายว่าด้วยการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ( อียู ) หรือ "กฎหมายเบร็กซิต" ซึ่งสภาสามัญในกรุงลอนดอนให้สัตยาบันเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงลงพระปรมาภิไธย
ทั้งนี้ การให้สัตยาบันของสภายุโรปถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายอย่างเป็นทางการสำหรับกระบวนการเบร็กซิต โดยสหราชอาณาจักรจะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกอียูยาวนาน 47 ปี ในเวลา 23.00 น. ตามเวลามาตรฐานสากล ของวันที่ 31 ม.ค.นี้ ( 06.00 น. ของวันที่ 1 ก.พ. ตามเวลาในไทย ) ถือเป็นประเทศแรกที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกของอียู ตามผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ "ระยะเปลี่ยนผ่าน" ที่สหราชอาณาจักรและอียูต้องเจรจา "สถาปนาความสัมพันธ์ใหม่" ในทุกด้าน แต่การที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร ขีดเส้นกระบวนการต้องยุติภายในวันที่ 31 ธ.ค. นี้ เรียกเสียงวิจารณ์จากอียูว่าน้อยเกินไป แต่ยืนยันว่าสหภาพ "ไม่ประนีประนอม"
ขณะที่นายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคเบร็กซิต ซึ่งครองโควตาที่นั่งของสหราชอาณาจักรในสภายุโรปมากที่สุด แถลงอำลาที่ประชุม และยืนยันว่าสหราชอาณาจักร "จะไม่เดินถอยหลัง" ในเรื่องนี้อีก อนึ่ง ประเด็นการเจรจาในระยะเปลี่ยนผ่านที่ทุหฝ่ายยังคงกังวล รวมถึงารคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองอียูที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ในระดับเดียวกับที่อียูต้องปกป้องพลเมืองของสหราชอาณาจักรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 แห่ง "ค่าธรรมเนียมสุดท้าย" ที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายให้กับอียู และมาตรการด้านศุลกากรระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร กับไอร์แลนด์ซึ่งยังคงเป็นสมาชิอียูและตั้งอยู่บนเกาะเดียวกัน.