สทนช. เร่งสำรวจหาแหล่งน้ำเพิ่ม หวังใช้ตลอดแล้งนี้
สทนช.เร่งสำรวจหาแหล่งน้ำมากักเก็บไว้ใช้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคตลอดหน้าแล้งนี้ โดยสิ้นหน้าแล้งเดือน มิ.ย. ต้องมีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ขณะที่ "จิสด้า" ห่วงหน้าแล้งปีหน้าน้ำอาจน้อย หลังคาดการณ์พายุอาจเข้าน้อยเพียง 1 ลูก
เว็บไซต์ www.voicetv.co.th รายงานว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งว่า ช่วงนี้ต้องใช้มาตรการระยะสั้น ด้วยการสำรวจหาแหล่งน้ำเพื่อนำน้ำมากักเก็บไว้ใช้ตลอดช่วงแล้งนี้
โดยมีหลากหลายรูปแบบที่จะใช้เพิ่มน้ำมากักเก็บ เช่น การทำฝนหลวง กรมฝนหลวงได้ดำเนินการตรวจสอบความชื้นสัมพัทธ์ต่อเนื่องเพื่อจะทำฝนหลวงบรรเทาภัยแล้ง หากทำฝนหลวงไม่ได้จะเชื่อมแหล่งน้ำที่มีอยู่ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้าได้สำรวจไว้แล้วประมาณ 140,000 บ่อ เพื่อตรวจสอบมีบ่อใดบ้างสามารถใช้งานได้ พร้อมทั้ง เร่งสำรวจเหมืองแร่เก่าต่างๆ จะนำมาเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น
ขณะที่บ่อบาดาลรัฐบาลได้ให้งบกลางมาขุดเจาะมากกว่า 1,000 บ่อ เพื่อหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมให้ประชาชน ส่วนมาตรการระยะ 3-4 เดือนข้างหน้านายกรัฐมนตรีได้ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่มเติม ทั้งแก้มลิงและการขุดลอกหนองน้ำธรรมชาติ ให้ได้ทันเดือน มิ.ย. นี้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าหน้าแล้งปีนี้จะยาวนานถึงเดือน มิ.ย. จึงต้องสำรองน้ำไว้สำหรับกักเก็บใช้ยามจำเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพื่อการอุปโภค-บริโภค แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนช่วงเดือน พ.ค. นี้ แต่จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงถือเป็นการลดอัตราความเสี่ยงลง
ด้าน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า จิสด้า ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศมาใช้สำรวจพื้นที่ของประเทศไทยมีบริเวณใดบ้างกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง พบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางบางพื้นที่จะประสบความแห้งแล้งมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณน้ำกักเก็บมีเหลือเพียงร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำที่มีทั้งหมดในประเทศไทย คาดว่า ปีนี้ไทยน่าจะมีพายุพัดผ่านเข้ามาเพิ่มน้ำในอ่างเก็บน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ประมาณ 1 ลูก แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเพิ่มได้มากน้อยแค่ใด จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมในทุกประเภทเพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอตลอดแล้งนี้จนถึงหน้าแล้งปี 2564