ก.ตร.ไฟเขียวสอบวินัยร้ายแรง‘ผกก.หนุ่ย’นายตำรวจติดตาม‘ยิ่งลักษณ์’
ก.ตร.ไฟเขียวสอบวินัยร้ายแรง‘ผกก.หนุ่ย’นายตำรวจติดตาม‘ยิ่งลักษณ์’
เว็บไซต์ www.naewna.com รายงานว่า วันที่ 29 มกราคม 2563 พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 1/2563 กรณีหารือปัญหาข้อกฎหมายในส่วนของ พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ได้ร้องทุกข์เมื่อปี 2561 ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของสันติบาล มีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงโดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น น่าจะเป็นคำสั่งที่มิชอบ อนุร้องทุกข์ได้พิจารณานำเสนอ ก.ตร.แล้วส่งเรื่องให้อนุกฎหมายพิจารณา ซึ่งได้ข้อสรุปจากอนุกฎหมาย
ทั้งนี้ ประเด็นแรกเรื่องการตั้งกรรมการสืบสวนร้ายแรง โดยไม่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนทำได้หรือไม่ ซึ่งทางอนุกฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าสามารถกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมาตรา 84 และ 86 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ.2556 ข้อ 3 กรณีมีการกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจกระทำผิดวินัยร้ายแรง จะสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีมูลเพียงพอที่จะตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือไม่ ในกรณีนี้แสดงว่าผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมีความเห็นว่ามีมูล ประเด็นต่อมาถ้าพิจารณาว่ามีมูลเพียงพอหรือไม่ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน ดังนั้นหากเห็นว่ามีมูลเพียงพอในข้อเท็จจริงก็สั่งการได้ โดยสรุป ก.ตร. ตอบกลับไปว่าการดำเนินการที่ตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงโดยไม่สืบสวนข้อเท็จจริงก่อนนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมาย
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า อีกกรณีที่ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ ร้องทุกข์เมื่อปี 2561 ว่า พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. ขณะดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งให้ พ.ต.อ.ไพรัตน์ มาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. โดยร้องทุกข์มา 3 ประเด็น คือ เรื่องแรกจเรตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ได้หรือไม่ ได้ข้อสรุปว่า พล.ต.อ.สุชาติ ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ศปก.ตร. ตามคำสั่งของ ผบ.ตร. จึงมีอำนาจให้ข้าราชการตำรวจมาปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ได้
ประเด็นที่ 2 เมื่อมาอยู่ ศปก.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติสามารถส่งตัวไปฝึกธำรงวินัยได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวจเรตำรวจแห่งชาติได้อนุมัติจาก ตร. ว่ากรณีถ้าเห็นว่ามีโครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพก็สามารถส่งไปได้
ประเด็นที่ 3 เมื่อจเรตำรวจแห่งชาติพบการกระทำความผิดของข้าราชการตำรวจแล้วดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่นั้น กรณีกฎหมายกำหนดไว้ว่ากรรมการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชา เมื่อจเรตำรวจพบการกระทำผิดของข้าราชการตำรวจ ก็ส่งเรื่องไปทางต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยอยู่แล้ว