อินเดีย-อินโดนีเซีย โชว์ความสำเร็จ“หลักประกันสุขภาพ”ตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำให้ได้เร็วที่สุด
ประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2563 จัดเสวนา เมื่อ 2 ประเทศใหญ่เดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : อินเดียและอินโดนีเซีย บนเส้นทางสร้างหลักประกันสุขภาพ อินเดียครอบคลุมประชาชนกว่า 540 ล้านคนแล้ว ด้านอินโดนีเซียยังเหลือประชาชนอีก 15% ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
วันที่ 28 ม.ค.2563 การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้มีการเสวนาเรื่อง “Two Giants Go Universal: India and Indonesia on PATH to UHC” (เมื่อ 2 ประเทศใหญ่เดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : อินเดียและอินโดนีเซีย บนเส้นทางสร้างหลักประกันสุขภาพ) อินดู บูชาน ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติอินเดีย กล่าวถึงนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอินเดีย หรือ PMJAY ที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ว่า ขณะนี้ มีความคืบหน้ามากขึ้นกว่าที่ตั้งเป้าขึ้นไว้ในตอนแรก โดยมากกว่า 23 รัฐ จากทั้งหมด 37 รัฐ สามารถนำนโยบายไปบังคับใช้ และครอบคลุมประชากรอินเดียมากกว่า 540 ล้านคนแล้ว
“16 เดือนที่ผ่านมา โครงการฯ มีจำนวนครอบครัวเข้าร่วมทั้งหมด 133 ล้านครอบครัว มีโรงพยาบาลเข้าร่วมมากกว่า 2.1 หมื่นแห่ง มีการรักษามากกว่า 9 ครั้ง ต่อนาที และ 85% สามารถ ‘เคลม’ ค่าใช้จ่ายได้ทัน โดยมีการรักษาเกิดขึ้นแล้ว กว่า 7.6 ล้านครั้ง ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก”
ทั้งนี้ จุดแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอินเดียนั้น คือการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบ โดยรัฐบาล จ่าย “ค่าตอบแทน” เพิ่ม เพื่อจูงใจให้ทั้งตัวโรงพยาบาล และพนักงานโรงพยาบาล ร่วมเป็นหน่วยบริการให้กับโครงการ ซึ่งขณะนี้ 46% ของโรงพยาบาลในโครงการ เป็นโรงพยาบาลเอกชน ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลรัฐในอินเดียไปได้มาก
นอกจากนี้ จุดแข็งอีกอย่างคือระบบไอที ที่ค่อนข้างครอบคลุม ครบถ้วน โดยไม่นานหลังจากเปิดโครงการ มีการติดต่อคอลเซ็นเตอร์ มากกว่า 4.9 ล้านครั้ง มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ มากกว่า 17.2 ล้านคน และมีมากกว่า 1 ล้านคน ใช้แอปพลิเคชัน ขณะเดียวกัน ข้อมูลของระบบหลักประกันสุขภาพ และประชาชนในระบบ ยังถูกเชื่อมต่อกันผ่านระบบคลาวด์ ทำให้สะดวกต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการสืบค้น
“สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง ที่รัฐบาลอินเดีย ลงทุนค่อนข้างมากคือการ ‘วิเคราะห์’ ข้อมูลการรักษา การตรวจจับการทุจริตของหน่วยบริการ - การรักษา รวมถึงใช้อัลกอริธึม ในการปรับปรุงนโยบายตลอดเวลา” ผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติอินเดียระบุ
อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงมีปัญหาสำคัญคือ “การรับรู้” เกี่ยวกับนโยบายนี้ยังค่อนข้างต่ำ อินเดีย ยังมีระบบประกันสุขภาพอื่น ๆ ที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เช่น สวัสดิการข้าราชการ หรือ ประกันสุขภาพสำหรับ “คนงาน” ขณะเดียวกัน บริการสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาล แต่ละพื้นที่ ก็ยังไม่เท่าเทียมกัน และที่สำคัญที่สุดคือจำนวนโรงพยาบาลในโครงการ ยังคงไม่เพียงพอ โดยมีการประมาณการณ์ว่ายังต้องการอีก 1.5 แสนโรงพยาบาล ถึงจะเติมเต็มระบบได้ครบถ้วน
ขณะที่ ทูบากัส อัคมัด โชสนี ประธานสภาสวัสดิการสังคมแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซีย มีความท้าทายสำคัญ คือมีเกาะมากกว่า 1.7 หมื่นเกาะ มีประชากร มากกว่า 6,000 เชื้อชาติ โดย 50% อยู่ในพื้นที่เมือง และ 61 – 70% อยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ
ทั้งนี้ อินโดนีเซีย เริ่มต้นระบบสวัสดิการสังคม ด้านสุขภาพในปี 2547 และเริ่มกฎหมายสวัสดิการสังคมในปี 2554 โดยให้อำนาจสำนักงานสวัสดิการสังคม ในการบริการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ Jaminan Kesehatan Nasional หรือ JKN เมื่อปี 2557 โดยยึดหลักสำคัญ 3 ข้อ คือ ระบบ ต้องมีความ “ยั่งยืน” ทางการเงิน ต้องมีความเท่าเทียมในการให้บริการ และต้องไปสู่ระบบ “Single Purchaser” หรือมี “ผู้จ่าย” รายเดียวคือรัฐบาลให้ได้
อย่างไรก็ตาม หลักการของ JKN ยังไปไม่ถึงการเป็น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยขณะนี้ ยังเหลือประชากรอินโดนีเซียอีกประมาณ 15% ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่นเดียวกับเรื่องส่งเสริมสุขภาพ – ป้องกันโรค ก็ยังไม่เพียงพอ
“ความท้าทายอีกอย่างก็คือ ณ ปัจจุบัน ระบบบริการปฐมภูมิ ก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มรูปแบบ ทั้งการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น การจัดหายารักษาโรคพื้นฐาน ทำให้คนไข้ไปกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งอินโดนีเซีย กำลังหาทางเพิ่มระบบปฐมภูมิให้มากขึ้น และครอบคลุมขึ้น” ทูบากัสกล่าว
ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ชื่นชมในความก้าวหน้าของทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังสำคัญก็คือต้องสร้างระบบ “ธรรมาภิบาล” ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้ระบบสามารถโปร่งใส – ตรวจสอบได้ และต้องระมัดระวังเรื่องการให้สวัสดิการเฉพาะคนจน
“เพราะตัวอย่างจากประเทศไทย ก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ คนจนจำนวนมาก ไม่ได้รับบัตรสาธารณสุขเพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ที่จัดให้สำหรับคนยากจน แต่กลับกลายเป็นผู้ที่ใกล้ชิดผู้นำชุมชน ที่ได้บัตรสงเคราะห์ผู้ยากไร้แทน มีคนจน ที่ได้บัตรเพียง 50% เท่านั้น จึงเป็นที่มาว่าทำไม ถึงต้องทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมทุกคน ไม่ใช่ครอบคลุมเฉพาะคนจนเท่านั้น” นพ.สุวิทย์ กล่าว
นพ.สุวิทย์ ยังแนะนำอีกว่า ทั้ง 2 ประเทศ ควรสร้างระบบประเมินผลเทคโนโลยีและประเมินความคุ้มค่า
ของการรักษาใหม่ ๆ เพราะยิ่งเวลาผ่านไป จะมีการรักษาด้วยวิธีที่ต่างจากเดิมเสมอ ซึ่งหมายความว่างบประมาณที่ใช้ในโครงการ ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย จึงต้องการระบบที่ดี ในการประเมินว่าควรบรรจุเรื่องใด ลงไปในสิทธิประโยชน์ของโครงการบ้าง
ขณะที่ คียา เมโล เฟอร์ธาโด จากสถาบันการจัดการ Goa ประเทศอินเดีย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลอินเดียต้องเร่งทำ คือควบคุม – กำกับนโยบายนี้ให้ใช้งานได้จริง และตรวจสอบบัญชี ให้ไม่เกิดการ “รั่วไหล” ของเงินในระบบ เพราะอินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก จึงต้องเน้นการกำกับดูแล โดยเฉพาะในระดับย่อย ๆ ให้ดี