กพฐ. ตอกย้ำ “เด็กยุคใหม่ต้องก้าวทันโลกและเรียนรู้ได้ในทุกบริบท”
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอกย้ำ เด็กยุคใหม่ต้องเรียนรู้ได้ในทุกบริบท ทั้งทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เชื่อหากมีทักษะเหล่านี้พร้อม เด็กสามารถสร้างสรรค์อาชีพที่เหมาะ ได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างการยอมรับ ก่อเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ และมีชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึง แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้สอดคล้องกับยุค Thailand 4.0 ว่า แนวคิดการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้เข้าถึงและพัฒนาศักยภาพของตนเอง สามารถบูรณาการองค์ความรู้มาสู่การสร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ตลอดช่วงวัย เรียนรู้ได้ในทุกบริบท เป็นสิ่งที่ในฐานะผู้จัดการศึกษาให้ความสำคัญสูงสุด รวมถึงแนวคิดการพัฒนาผู้เรียนนอกห้องซึ่งไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานแนวคิดการสนับสนุนให้เด็กหญิง-ชาย ได้ฝึกฝนทักษะความถนัด เพิ่มพูนความรู้ความสามารถเฉพาะด้านของตนเองให้สามารถเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตัวได้ ไม่ใช่เพียงมุ่งเรียน เพื่อเป็นเสมียนหรือเข้ารับราชการเพียงด้านเดียว พระปรีชาญาณของพระองค์ท่านได้ก่อเกิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
“พระราชปณิธานที่จะส่งเสริมให้มีงานศิลปหัตถกรรมนั้น เพราะทรงเน้นเรื่องทักษะอาชีพ คือการเรียนอะไรก็แล้วแต่ จะเก่งด้านไหนก็แล้วแต่จะต้องสามารถนำความรู้ความถนัดความเก่งเหล่านั้นมาสร้างอาชีพเลี้ยงตัวเองให้ได้ แต่ทุกวันนี้เรามุ่งเน้นเพิ่มเรื่องวิชาการเข้าไปอีกเนื่องจากวิชาการแต่ละยุคสมัยที่พัฒนาขึ้นเราก็ต้องปรับเปลี่ยนก้าวให้ทันโลก เช่น ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี อาชีพ การมีงานทำ ประเด็นสำคัญคือต้องการให้เราก้าวทันยุคสมัย ทำให้สิ่งที่เราทำนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กอย่างแท้จริง โดยเด็กต้องได้รับการพัฒนาและต่อยอดไปสู่การมีอาชีพและมีงานทำในอนาคต”
โดย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ชี้ให้เห็นถึงการสร้างเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพ ได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันเหล่าผู้บริหารการศึกษา ก็จะได้ประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อนำมาสู่การปรับเพิ่มเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนโดยตรง นอกจากนั้นเหล่าผู้ปกครอง รวมทั้งประชาชนทั่วไปก็จะได้เห็นภาพรวมและมิติทางการศึกษารวมทั้งศักยภาพของเด็กนักเรียนในยุคปัจจุบันด้วย
“สิ่งที่เราต้องการเห็นมากที่สุดก็คือ การเรียนต้องไม่เรียนเฉพาะในห้องเรียน เราต้องการเห็นเด็กเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้ในบริบทที่แตกต่างกัน เรียนรู้สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้สังคมที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเอง เช่น การประดิษฐ์สิ่งของในแต่ละท้องที่แต่ละภูมิภาคด้วยความแตกต่างกัน หรือเรื่องอาชีพ ปัจจัยเหล่านี้มีโอกาสที่จะส่งผลถึงเด็ก อย่างไรก็ตามการที่เราจะพัฒนาให้เด็กมีศักยภาพเพียงพอ ต้องการสนับสนุนให้เขาเรียนรู้ค้นหาทักษะความถนัดในตัวเอง รู้จักการทบทวนประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ฝึกการสังเกตและรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ปัจจัยเหล่านี้ต้องถูกนำมาผสมผสานกัน และสามารถสืบทอดถ่ายทอดต่อกันได้ เราอยากเห็นและคาดหวังว่าเด็กทุกคนจะมีพัฒนาการที่ดี และสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ดร.อำนาจ ยังได้สะท้อนแง่มุมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล หรือ Thailand 4.0นั้น ไม่เพียงแต่หน่วยงาน สพฐ. เท่านั้นที่จะผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องเล็งเห็นในเป้าหมายเดียวกัน ร่วมมือกันเพื่อให้การจัดการศึกษาได้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน
“ผมอยากให้เราทำความเข้าใจให้ตรงกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การเรียนหนังสืออย่างเดียวแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้เรียนต้องเรียนรู้ได้ในทุกบริบท ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น ทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ถ้าเด็กมีความพร้อมทั้ง 3 ทักษะ เด็กสามารถสร้างสรรค์อาชีพที่เหมาะกับความรู้ความสามารถของตนเองได้ ประกอบอาชีพที่ใจรักได้อย่างเต็มศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจ สร้างการยอมรับ สร้างความมั่นคงในชีวิตได้ ประเทศเราวันนี้ผมถือว่าเป็นประเทศที่มีการเรียนมากเกินไป ในห้องเรียนเราเรียนถึง 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในค่าเฉลี่ย เรียนในห้องเรียน ทั้งการบ้าน ทั้งเรียนพิเศษ กับติวเตอร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ เหนื่อยกับการเรียน เราต้องมาช่วยกันคิดและส่งเสริมเขาให้เด็กๆ ของเราได้ เกิดพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย ให้โอกาสเขาได้Play to learn เรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตจริง เรียนรู้กับสังคมอื่น องค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายจากโลกใบนี้ ไม่ว่าจะสืบค้นจากระบบของอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีต่างๆ ในยุคดิจิทัล ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยมีเราเป็นฝ่ายชี้แนะแนวทางที่เหมาะสม ไม่ใช่การบังคับควบคุม สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมกระบวนการคิดและตัดสินใจของเขา ให้เขาได้ทบทวน กลั่นกรองออกมาเป็นความคิดของตนเอง อย่างนี้เรียกว่าเขาได้เกิดความรู้ ได้เกิดพัฒนาการแล้ว”
ทั้งนี้ ดร.อำนาจ ยังกล่าวถึงการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 69 ปีการศึกษา 2562 ที่กระศึกษาธิการจัดขึ้น ใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือที่จังหวัดสุโขทัย และภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า กิจกรรมนี้ ถือเป็นหนึ่งเวที ที่เปิดพื้นที่ให้กับเด็กนักเรียนในแต่ละภูมิภาค ได้เข้าร่วมแสดงความสามารถ โชว์ทักษะ พร้อมมอบประสบการณ์ทำงานในอีกรูปแบบหนึ่งให้กับบุคลากรทางการศึกษา ได้เพิ่มพูนความรู้ในการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้เรียนรู้ข้อจำกัดของตนเอง ได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ไข และได้เห็นพลังจิตอาสาของทุกภาคส่วนในพื้นที่การจัดงาน ได้หลอมรวมใจกันบริหารจัดงานออกมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งเห็นว่าหากทุกคนสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ แล้วนำไปต่อยอดองค์ความรู้ของตนเอง เปิดใจยอมรับประสบการณ์แง่มุมใหม่ๆ เชื่อว่าการจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนนี้จะเป็นห้องเรียนใหญ่ที่ไม่ใช่มีเฉพาะแต่นักเรียนเท่านั้น หากแต่ทุกภาคส่วนก็สามารถที่เรียนรู้ร่วมกันได้ในห้องเรียนเดียวกัน