'ธปท.' ดีเดย์ 1 พ.ค. ให้แบงก์คิดดอกเบี้ย 'ผิดนัดชำระหนี้' ตามเกณฑ์ใหม่
'แบงก์ชาติ' ดีเดย์ 1 พ.ค. ให้ 'สถาบันการเงิน' คิดเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ เฉพาะในส่วน 'เงินต้น' งวดผิดนัดแล้วเท่านั้น จากเดิมที่คิดจากยอดหนี้คงเหลือทั้งหมด
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป สถาบันการเงินทุกแห่งจะต้องปรับปรุงการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ตามหลักเกณฑ์ใหม่ คือ ให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เฉพาะในส่วนเงินต้นของงวดที่ค้างชำระและผิดนัดแล้วจริงๆเท่านั้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการคำนวณจากฐานของยอดหนี้คงเหลือทั้งหมด
"การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 พ.ค.นั้น ประชาชนจะได้รับสิทธิต่างๆ โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องขอแก้สัญญาแต่อย่างใด แต่เนื่องจากการปรับปรุงครั้งนี้เป็นการปรับใหญ่ และเกี่ยวข้องกับหลายระบบงานของสถาบันการเงิน จึงต้องใช้เวลาในการปรับระบบให้รองรับ อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันที่ 1 พ.ค. หากลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ ทางสถาบันการเงินสามารถพิจารณายกเว้น หรือผ่อนปรนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร" นางธัญญนิตย์กล่าว
นางธัญญนิตย์ ยังกล่าวว่า ในส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเรียกค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด และการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตนั้น หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว
สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการเรียกค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนดนั้น จะกำหนดสถาบันการเงินคิดค่าปรับการไถ่ถอนบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้งให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอนด้วย จากเดิมประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน
ส่วนกรณีค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตนั้น ในกรณีที่ผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้ผู้ประกอบการคืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ จากเดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูง อาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม จากเดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี
"การปรับปรุงครั้งนี้ นอกจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นด้วยว่าระบบการธนาคารของไทยมีแนวปฏิบัติที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งหมายความว่าการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินจะมั่นคงขึ้นในระยะยาว"นางธัญญนิตย์ ระบุ
นางธัญญนิตย์ ยังระบุว่า ในระยะต่อไป ธปท.จะปรับปรุงการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆให้สอดคล้องกับ 4 ประเด็น คือ 1.ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2.ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ 3.ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ4.ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ธปท.ยังจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ของสถาบันการเงินแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย
อ่านประกอบ : ‘แบงก์ชาติ’ สั่งรื้อเกณฑ์คิด ‘ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม’ ช่วยปชช.-SMEs
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/