“7พีเอ็มยู” เตรียมพร้อม “เบิก-จ่าย” งบวิจัย 1.2 หมื่นล้าน
สกสว. เชิญ “7พีเอ็มยู” ร่วมหารือ เตรียมแผนปฏิบัติการ และขออนุมัติงบด้านการวิจัยปี 63 รวม 12,554 ล้านบาท เดินหน้าโครงการ Flagship และโครงการปกติ สร้างนวัตกรรม ยกระดับสังคมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ด้าน
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 15 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกสว. ร่วมประชุมหารือกระบวนการขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กับหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม (Program Management Unit : PMU) ทั้ง 7 พีเอ็มยู ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และ ทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ และ แนวทางการทำงานร่วมกันให้สอดคล้องกับงบประมาณ ตามที่ สกสว. และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกันวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในกรอบวงเงิน 12,554.78 ล้านบาท
ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า เป็นการหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อม และความเข้าใจแนวทางการทำงานร่วมกันหว่างที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ในช่วงนี้ สกสว.ขอให้ทุกพีเอ็มยูส่งเอกสารสรุปภาพรวมของแผนงาน เป้าหมาย ขั้นตอน ตัวชี้วัด ผลผลิตและกิจกรรม ทั้งในส่วนของแผนปฏิบัติการพีเอ็มยูและแผนงานย่อย ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 63 รวมถึงข้อเสนอโครงการที่ผ่านการกลั่นกรอง หรือ คาดว่าจะออกสัญญาได้ช่วงไตรมาสที่ 2 ในวันพุธที่ 29 มกราคม 63 จากนั้น สกสว.จะเสนอแผนทั้งหมดแก่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ที่มี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธาน ให้พิจารณาแผนงาน ข้อเสนอโครงการ และอนุมัติหลักเกณฑ์การใช้จ่าย ที่ต้องรายงานการเงินทุก 3 เดือน ผลโครงการทุก 6 เดือน และการประเมินผล ตามบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement หรือ MOA) สัญญาที่กฎหมายให้การคุ้มครอง ระหว่างพีเอ็มยูกับสกสว.
เมื่อมีประกาศ พรบ.งบประมาณรายจ่ายฯ บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักงบประมาณ จะดำเนินการโอนงบประมาณผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) จากนั้น สกสว.ดำเนินการจัดสรรงบประมาณ ทั้งในส่วนของงบอุดหนุน และงบบริหารให้กับพีเอ็มยู ก่อนที่พีเอ็มยูจะจัดสรรงบประมาณทั้ง 2 ส่วนให้กับหน่วยงาน องค์กร มหาวิทยาลัย และ โครงการวิจัย ตามที่ยื่นเอกสารประกอบการอนุมัติ 2 ประเภท คือ 1.โครงการ Flagship หรือ โครงการขนาดใหญ่ สอดคล้องตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ และ โครงการปกติ ครอบคลุมการพัฒนา 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม คือ 1. การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 4. การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นเพียงการผลิตความรู้ หรือนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา แต่ยังมีความคาดหวังในการใช้กลไกและผลจากการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ตามเป้าหมายความสำเร็จ (OKRs) กำหนดไว้ก่อนเริ่มการวิจัย