เอสซีจี จับมือ เอไอเอส-ม.อ. ทดสอบ 5G คุมรถยกระยะไกล ดันภาคอุตสาหกรรมใช้จริง
เอสซีจี จับมือ เอไอเอส ม.สงขลานครินทร์ ทดสอบ 5G ควบคุมรถยกระยะไกล กทม. - สิงห์บุรี ผลักดันใช้จริงในอุตสาหกรรม สู่ประเทศไทย 4.0
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดแถลงความคืบหน้าโครงการ “The 1st Real 5G Use Case for Industry” พร้อมสาธิตการทดสอบการนำนวัตกรรม 5G มาใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก ณ โถงอาคารสำนักงานใหญ่ 1 เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มุ่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางเคมี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
“ทั้งนี้ เอสซีจีให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ กับองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถประสบความสำเร็จได้ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเอไอเอสในครั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าของเราได้รับสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิด ประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น”
สำหรับโครงการ “การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G” ดังกล่าว เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ใน จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้ รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถยก (Forklift) ยังเป็นการเคลื่อนย้ายวัสดุ (material mobility) ที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ก่อนจะต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยัง สามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ หน้างาน
“ส่วนทิศทางของเอสซีจีในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เสริมขีดความสามารถของธุรกิจในอนาคตนั้น สามารถเป็นไปได้ทั้งการเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง เช่น การทำงานของเครื่องจักรบริเวณเหมือง และเตาเผาปูนซีเมนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การเพิ่มความเร็วในส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงานในหลากหลายพื้นที่มายังศูนย์ควบคุมส่วนกลางเพื่อให้บริหารจัดการข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และการเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจการจัดส่ง (โลจิสติกส์) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0 ได้อย่างแท้จริง” นายอรรถพงศ์ กล่าว
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี
ด้านนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เอไอเอสเป็นผู้นำนวัตกรรม 5G รายแรกรายเดียวของไทยที่ทดลองทดสอบ 5G ครบทั่วไทย โดยเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนา นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และประชาชนได้ร่วมศึกษา ทดลอง และทดสอบการใช้งาน 5G ในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ว่ามีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
สำหรับความร่วมมือระหว่างเอไอเอส เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาสิ่งที่ใช้แก้ไขปัญหา (solutions) ในการเพิ่ม ประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การ สนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นการนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยก ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ-สระบุรี เป็นครั้งแรก ของภาคอุตสาหกรรมของไทย ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยได้เป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อีกหลายด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป” นายวสิษฐ์ กล่าว
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส
ขณะที่ รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ม.อ. , ผู้อำนวยการ โครงการอินโนเวชั่น ฮับส์ กล่าวว่า "ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม ดิจิทัล ทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อส่งมอบต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งานได้จริง เพื่อนำแพลตฟอร์มระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับระบบควบคุมผ่านทางไกลบนเครือข่าย AIS 5G นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต”
รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ม.อ. , ผู้อำนวยการ โครงการอินโนเวชั่น ฮับส์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/