อัยการสั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์-พวก" คดีฆ่า “บิลลี่” แต่เปิดช่องผู้เสียหายยื่นฟ้องเองได้
อัยการส่งเอกสารถึงดีเอสไอ สั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่า “บิลลี่” เหลือแค่มาตรา 157 แต่กฎหมายยังเปิดช่อง “ผู้เสียหาย” ยื่นขอความเป็นธรรมหรือยื่นฟ้องเองได้
เว็บไซต์ www.mgronline.com วันนี้ (24 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า มีหนังสือจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงวันที่ 23 ม.ค. 2563 ระบุเนื้อหาสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาฆ่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำเรียกร้องสิทธิในที่ทำกินชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2557
คดีนี้เกิดขึ้นหลังดีเอสไอ แถลงพบชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ในแหล่งน้ำใต้สะพานไม้ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบด้วยวิธี “ไมโตรคอนเดรีย ดีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก และพบว่ามีสารพันธุกรรมตรงกับแม่ของบิลลี่ จึงสรุปว่าเป็นชิ้นส่วนของบิลลี่ เพราะเป็นลูกคนอื่นๆ ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน ทำให้ดีเอสไอเดินหน้าหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนจะแจ้งข้อหานายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน ใน 8 ข้อหา ส่งให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษพิจารณา ในคดีพิเศษที่ 13/2562
สำหรับรายละเอียดที่อัยการส่งกลับมายังดีเอสไอ ระบุข้อหาที่ไม่สั่งฟ้อง 7 ข้อหา จาก 8 ข้อหา รวมทั้งข้อหา “ฆ่า” และ “กักขังหน่วงเหนี่ยว” มีเพียงข้อหา “การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่” เท่านั้น ที่ไม่ระบุในเอกสารแจ้งสั่งไม่ฟ้อง มีรายละเอียดดังนี้
ตามหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 13/2562 คดีระหว่าง นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ กับพวกรวม 2 คน ผู้กล่าวหา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ผู้ต้องหา ในข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฯลฯ ไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เพื่อพิจารณา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว มีความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ต้องหาที่ 1, นายบุญแทน บุษราคัม ผู้ต้องหาที่ 2, นายธนเสฎฐ์ หรือ ไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาต่อไปนี้
1. ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
2. ข้อหาร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย
3. ข้อหาร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
4. ข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดติดตัวไปด้วยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
5. ข้อหาร่วมกันโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดีกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อม ในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
6. ข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
7. ข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งใดโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้บุคคลใดมอบทรัพย์ให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น
ส่วนนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 4 อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทั้ง 7 ข้อหาเช่นเดียวกับ 3 คนแรก แต่ในข้อหาที่ 6 และ 7 นายกฤษณพงษ์ถูกกล่าวหาในฐานเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ไม่ใช่เจ้าพนักงาน จึงแยกออกมา
ในสำนวนคดีพิเศษที่ 13/2563 ที่ ดีเอสไอ ยื่นต่อสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ได้แจ้งข้อหาไปทั้งหมด 8 ข้อหา ดังนั้นจึงหมายความว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์และพวกเพียงข้อหาเดียว คือ ข้อหาร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งข้อหานี้ เป็นข้อหาที่ดีเอสไอนำสำนวนการสอบสวนมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนายชัยวัฒน์ และพวกอ้างว่า หลังควบคุมตัวนายพอละจีไว้เพราะมีน้ำผึ้งป่าในครอบครอง แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว จึงถูกกล่าวหาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพราะไม่ส่งตัวนายพอละจีไปดำเนินคดีกับตำรวจ
สำหรับขั้นตอนต่อไป เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องกลับมาที่ ดีเอสไอ ก็ต้องแจ้งความเห็นอย่างเป็นทางการพร้อมเหตุผลไปยังฝ่ายผู้เสียหาย คือ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ และทาง มึนอ ยังมีช่องทางต่างๆ ที่สามารถทำได้ คือ
1. ยื่นขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุด เพื่อขอให้สั่งฟ้องคดี และกรณีที่สั่งไม่ฟ้องขอให้ชี้แจงเหตุผลและข้อเท็จจริงที่สั่งไม่ฟ้องเป็นหนังสือ
2. ยื่นขอให้ทางดีเอสไอทำความเห็นแย้งความเห็นของอัยการคดีพิเศษไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด
3. ยื่นถวายฎีกา
4. ในกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ยังไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีเอง ดังนั้นนางสาวพิณนภา ยังมีสิทธิที่จะยื่นฟ้องคดีเองได้โดยตรง ตาม ป.วิอาญา มาตรา 34 เช่นเดียวกับคดีของ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ญาติยื่นฟ้องคดีเองในภายหลัง
- ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จัดงาน “พาบิลลี่กลับบ้าน” ปลายเดือนมกราคมนี้
ในช่วงปลายเดือนนี้ มีกำหนดที่ชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานจะจัดงานทำบุญให้กับบิลลี่ หลังทราบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว พิธีนี้เป็นไปตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหากทราบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบุคคลนั้นเสียชีวิต จะต้องมีการทำพิธีศพให้ถูกต้องตามจารีตประเพณี แม้จะไม่พบร่างหรือไม่มีอัฐิก็ให้ใช้เสื้อผ้าไปประกอบพิธีได้ โดย มึนอ ภรรยาของบิลลี่พร้อมด้วยญาติมิตร ได้กำหนดวันทำบุญให้บิลลี่ ในวันที่ 28 ม.ค. 2563 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี