สปสช. แนะ อปท.ดึง “กองทุนสุขภาพตำบล” ร่วมแก้ปัญหาวิกฤตจาก PM2.5
สปสช.แนะท้องถิ่นประสบปัญหาฝุ่นควันวิกฤตจากฝุ่นละออง PM2.5 ใช้งบ “กองทุนสุขภาพตำบล” จัดหาหน้ากากอนามัยป้องกันผลกระทบสุขภาพ รณรงค์ให้ความรู้ ลดการเผาไหม้ไม่จำเป็น มุ่งป้องกันภาวะเจ็บป่วยสารพัดเพื่อลดอันตรายจากมลพิษ
จากสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และภาคเหนือของไทย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันที่ยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจที่เป็นผลกระทบระยะสั้น โดยฝุ่นควันดังกล่าวมีฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่สามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ทั้งกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด และโรคภูมิแพ้ รวมถึงผู้ต้องทำงานกลางแจ้ง
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากการติดตามสถานการณ์ขณะนี้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต่างร่วมเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อลดฝุ่นควันที่เป็นมลพิษนี้ โดย “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีกลไกสำคัญเพื่อร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นควันนี้ได้ คือ “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือที่เรียกว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในด้านสุขภาพให้กับประชาชน นอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น องค์กรหรือกลุ่มประชาชน เพื่อดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังสนับสนุนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขององค์กร กลุ่มประชาชน หน่วยงานอื่น รวมถึงเปิดให้สามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อร่วมแก้ไขกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ตลอดจนปัญหาสาธารณสุขตามความเป็นที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ได้ อย่างในกรณีวิกฤตฝุ่นควันที่กำลังเกิดขึ้นนี้ที่มีผลต่อสุขภาพประชาชนโดยตรงที่สูดดมอากาศที่มีฝุ่นควัน อาทิ
การรณรงค์ให้ความรู้ลดการเผาไหม้ที่ไม่จำเป็น การจัดหาหน้ากากอนามัยให้ชาวบ้านในพื้นที่เพื่อป้องกันภาวะเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ ควบคู่การแนะนำการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เป็นต้น โดยเป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ข้อ 10 (5) ที่ระบุการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้
“ในการดำเนินงานกองทุนสุขภาพท้องถิ่น ปัจจุบันมี อปท.จำนวน 7,738 แห่งจากทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งแต่ละปีมีการกระจายงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและท้องถิ่นร่วมสมทบ วิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัญหาสาธารณภัยร้ายแรงที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหา และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูร้อน ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นควันนี้สามารถนำกองทุนสุขภาพตำบลมาเพื่อร่วมแก้ปัญหาได้ เพราะถือเป็นภาวะจำเป็นด้านสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้างในทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงคุณภาพชีวิตประชาชน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว