"ศรีสุวรรณ" โต้ สปก.คืนที่ดินแล้วยังไม่จบ ต้องดำเนินคดี
เลขาฯ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โต้ สปก.กรณีแจง กมธ.ปราบปรามทุจริต กรณีถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ไม่ถูกต้องส่งคืนที่ดินไม่มีบทลงโทษ ยัน ส.ป.ก.ต้องดำเนินคดีเนื่องจากการถือครองที่ดินดังกล่าวส่อขัดกฎหมาย
เว็บไซต์ news.thaipbs.or.th รายงานว่าวันที่ 23 ม.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า ตามที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ส.ป.ก.ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎรว่า การถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หากส่งคืนกลับให้ ส.ป.ก.ก็ถือว่าตรงตามเจตนารมณ์แล้วเพื่อให้ ส.ป.ก.จัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรต่อไป ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย ส.ป.ก.นั้น
คำชี้แจงดังกล่าวเป็นการย้อนแย้งต่อ ม.24 ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ส.ป.ก.ทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น เมื่อ ส.ป.ก.พิสูจน์แล้วว่าผู้ที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ไม่เป็นไปตามกฎหมายตาม ม.26(4) เนื่องจากมีที่ดินบางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติด้วย โดยเฉพาะที่ดินของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ซึ่งยอมรับเองว่า “ได้ที่ดินดังกล่าวมานานแล้ว เป็นที่ดินที่รัฐ โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ ทำกินมานานแล้ว และได้เสียภาษีดอกหญ้ามานานกว่า 10 ปี และเสียทุกครั้งที่เขาเรียกเก็บ” ซึ่งการครอบครองที่ดินมือเปล่า ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ รองรับ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 (30) ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มาตรา 55 ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558
นอกจากนั้น น.ส.ปารีณา ยังขาดคุณสมบัติในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก.มาตั้งแต่ต้นเนื่องจากมิได้เป็นเกษตรกร ไม่ได้จบการศึกษาด้านเกษตรกรรม และไม่เป็นผู้ยากจนที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีตามกฎหมายของ ส.ป.ก. ดังนั้นแม้ น.ส.ปารีณา จะยินยอมคืนที่ดินทั้งหมดให้ ส.ป.ก.เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่แท้จริงตามกฎหมายแล้ว ก็ยังอาจถือได้ว่าได้เคยกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และกฎหมายป่าไม้ 2484 ประกอบกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ซึ่งถือว่า “เป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว” พนักงานเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องดำเนินการเอาผิด น.ส.ปารีณาตามกฎหมายข้างต้น แต่หากยังพยายามที่จะช่วยเหลือกันและกัน ก็อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ได้ ซึ่งเรื่องนี้สมาคมฯจะนำความขึ้นฟ้องต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงกันต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด