DSI แจงผลสอบ 12 คนเอี่ยวปมที่ดิน "นักการเมือง" รุกเขาใหญ่
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจงกรณีตรวจสอบปัญหาบุกรุกที่ดินเขาใหญ่ ของนักการเมือง ระบุเป็นคนละพื้นที่กับที่รับเป็นคดีพิเศษ ยืนยันการมีการส่งเรื่องให้ป.ป.ช.รับไม้ต่อ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายสอบแล้วพบ 12 คนพัวพัน
เว็บไซต์ www.news.thaipbs.or.th รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกรณีที่ปรากฏข่าวทางสื่อออนไลน์ กรณีเจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. เข้าตรวจสอบการแผ้วถางป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณต.เนินหอม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ต่อมามีผู้นำเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวมาแสดง โดยพบว่าเป็นของนักการเมืองคนสำคัญของจ.ปราจีนบุรี และมีการระบุในข่าวว่าที่ผ่านมามีการยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินการแล้ว แต่เรื่องเงียบหายไป
โดยกรณีดังกล่าวทางดีเอสไอ ได้สั่งการให้ตรวจสอบ พบว่าเมื่อพ.ศ.2554 ได้มีประชาชนมายื่นเรื่องต่อดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบกรณีนักการเมืองชื่อดังของจังหวัดปราจีนบุรี มีพฤติการณ์ยึดถือครอบครองที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยออกเอกสารสิทธิครอบคลุมพื้นที่ป่าโดยมิชอบ ในเขตพื้นที่ ต.โพธิ์งาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี จำนวน 22 แปลง เนื้อที่ประมาณ 251 ไร่
รับเป็นคดีพิเศษส่งไม้ต่อ "ป.ป.ท.-ป.ป.ช."
ภายหลังรับเรื่องดังกล่าว ดีเอสไอ ได้รับเรื่องไว้สืบสวนเป็นสำนวนสืบสวนที่ 189/2554 และคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2555 ให้รับเป็นคดีพิเศษที่ 149/2555
ทางการสอบสวน พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องอยู่ในข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญาในการออกเอกสารสิทธิดังกล่าว จึงส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการตามกฎหมาย
และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สืบสวนขยายผลกรณีเอกชนบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยต่อมารับเป็นคดีพิเศษที่ 136/2558 และรวบรวมพยานหลักฐาน และเตรียมที่จะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้เกี่ยวข้องกับการ กระทำความผิด ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ประกาศใช้ ทำให้เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการทั้งหมด เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
รวมทั้งเรื่องที่เป็นของสำนักงาน ป.ป.ท.อยู่แต่เดิมด้วย และมาตรา 30 วรรคสอง ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนคดีความผิดทางอาญาอื่นที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันและต้องดำเนินการไปในคราวเดียวกันกับเรื่องที่เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 136/2558 ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายใหม่ และจำหน่ายคดีจากสารบบ
ผลสอบคลอดแล้ว 12 คนเอี่ยวคดี
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2561 ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าวคืนมายังดีเอสไอ โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถแยกเรื่องเพื่อดำเนินการได้ ทางดีเอสไอ จึงรับเรื่องไว้สอบสวนใหม่ เป็นคดีพิเศษที่ 2/2562 และทำการสอบสวน
“ตอนนี้การสอบสวนเสร็จสิ้น มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องในความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และประมวลกฎหมายที่ดิน 12 คน คดีอยู่ระหว่างสรุปสำนวนการสอบสวน เสนอผู้บังคับบัญชา”
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงชี้แจงมายังสาธารณชนว่า พื้นที่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นคนละพื้นที่กับที่ดีเอสไอดำเนินคดี และในส่วนที่ดีเอสไอรับผิดชอบ มีการดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน จึงเป็นการปฏิบัติงานที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย การนำเสนอข่าวดังกล่าว จึงมีความคลาดเคลื่อน และทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน
ทางดีเอสไอ จึงชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อทราบ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวพาดพิงการปฏิบัติงานของดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานก่อนนำเสนอข่าว เพื่อลดโอกาสที่ทำให้สังคมเกิดความสับสน และได้รับข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันอาจส่งผลกระทบต่อหน่วยงานได้