แอมเนสตี้แถลงยุติการกลั่นแกล้งและการดำเนินคดีกับสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กระบวนการทางกฎหมายข่มขู่และคุกคามพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรค ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดฟังคำวินิจฉัยกรณีที่มีข้อกล่าวหาต่อพรรคในวันที่ 21 ม.ค. 2563 ซึ่งอาจมีผลให้มีการยุบพรรคและสมาชิกพรรคอาจถูกดำเนินคดี การพุ่งเป้าดำเนินคดีจำนวนมากกับสมาชิกพรรคถือได้ว่าเป็นการโต้กลับสมาชิกพรรคจากการจัดกิจกรรมซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม
พรรคอนาคตใหม่อาจถูกยุบพรรคในวันที่ 21 ม.ค. จากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาข้อกล่าวหาว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิตยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคฝ่าฝืนมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ณฐพรยังได้กล่าวหาเพิ่มเติมว่าพรรคอนาคตใหม่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอิลลูมินาติ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มที่เคยมีอยู่จริงและที่สมมติขึ้น โดยอ้างว่าสัญลักษณ์ของทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน
แม้ว่าทางพรรคจะมีการร้องขอศาลให้มีการไต่สวนพยานคดีดังกล่าว ศาลธรรมนูญได้มีคำสั่งไม่รับคำร้อง เนื่องจากพิจารณาว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยและไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม พรรคอนาคตใหม่จึงเผชิญกับการโดนยุบพรรคหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดจริง ถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยในด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคมของสมาชิกพรรค
นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังเผชิญกับข้อกล่าวหาในอีกคดีหนึ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 คำร้องดังกล่าวระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ฝ่าฝืนมาตรา 62, 66 และ 72 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง จากการรับเงินบริจาคมากกว่า 10 ล้านบาท (ประมาณ 330,000 เหรียญสหรัฐ) ต่อปีและกู้เงินที่ "ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดจริง ผู้บริหารทั้ง 15 คนของพรรคอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองนานถึงสิบปี ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่อาจถูกยุบพรรค ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อกล่าวหาดังกล่าว
นอกจากทั้งสองกรณีนี้แล้ว ผู้นำและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ยังเผชิญกับการฟ้องร้องดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ล่าสุดเจ้าหน้าที่เรียกผู้นำและสมาชิกพรรคห้าคนเข้าพบเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการจัด ‘แฟลชม็อบ’ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ซึ่งเป็นการตอบโต้ต่อคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคเผชิญกับข้อกล่าวหาหลายข้อ รวมถึงไม่แจ้งการชุมนุม กีดขวางทางเข้าออกสถานีรถไฟ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และจัดการชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตรของเขตพระราชวัง นอกจากนี้ สมาชิกพรรคอีกสามคนยังถูกฟ้องร้องโดยนายสนธิยา สวัสดี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดยรวมถึงข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีการใช้ข้อกล่าวหาตามมาตรานี้อย่างกว้างขวางเพื่อยับยั้งนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และทนายที่วิจารณ์ภาครัฐอย่างสงบ หากศาลพบว่ามีความผิดสมาชิกพรรคอาจถูกตัดสินให้จำคุกนานถึงเจ็ดปี
พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคฝ่ายค้านที่พึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2561 และได้ส.ส.ทั้งหมด 81 ที่นั่งจากการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก่อรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ทั้งในช่วงเวลาก่อนและหลังการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ได้พยายามยื่นคำร้องขอยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิธนาธรจากสมาชิกภาพรัฐสภา
การโจมตีพรรคอนาคตใหม่อย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นแนวโน้มการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกลั่นแกล้งบุคคล แนวโน้มนี้ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค. 2562 เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าการที่สาธารณชนให้ความสนับสนุนคู่แข่งทางการเมืองมากขึ้น ถือเป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลพยายามประหัตประหารสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และยุบพรรค ก่อนหน้านี้ ทางการไทยได้ใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาพุ่งเป้าจัดการคู่แข่งทางการเมือง ดังที่เห็นได้จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ซึ่งเชื่อได้ว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง โดยผู้นำพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาสิบปี
การโจมตีคู่แข่งทางการเมืองอย่างต่อเนื่องต้องถูกพิจารณาในบริบทที่เจ้าหน้าที่รัฐจับตาดู ข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดีกับนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และบุคคลทั่วไปที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตั้งแต่รัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ทั้งในรูปแบบการปิดปากคนที่แสดงความเห็นต่าง การทำให้ประชาชนหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิมนุษยชนของตน และยังเป็นการข่มขู่บุคคลผ่านการโต้ตอบของภาครัฐ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยหยุดยั้งการใช้อำนาจตุลาการในทางที่ผิดต่อพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกพรรค และบุคคลอื่นๆ โดยทันที พร้อมทั้งเพิกถอนฟ้องบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสันติทั้งหมด ในฐานะรัฐภาคีต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เจ้าหน้าที่จะต้องยึดมั่นต่อสาธารณชนว่าบุคคลทุกคนสามารถใช้สิทธิของตนในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้สมาชิกประชาคมระหว่างประเทศต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมทั้งสังเกตการณ์การปราบปรามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทางการเมืองและการทูตเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนและความรับผิดในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ