2 ส.ว.โวยงบปราบโกงในร่าง พ.ร.บ.งบฯโดนหั่นเหี้ยน
ส.ว.โวยงบปราบโกงถูกหั่นเหี้ยน “สมชาย” แฉอดีตรมต.บีบจนท.ขอโยกงบเข้าพื้นที่ ด้าน“วันชัย”แฉอีกจนท.ไม่ติดตามค่ารัฐชนะคดีเกือบแสนล้าน
เว็บไซต์ www.naewna.com รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าประธานที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 วงเงิน3.2 ล้านล้านบาท ตามที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายพรเพชรแจ้งต่อที่ประชุมว่า เดิมทีกำหนดให้ส.ว.อภิปรายคนละ 10 นาที แต่เนื่องจากมีส.ว.ขออภิปรายหลายคน จากการหารือกับรองประธานวุฒิสภาทั้งสองคนเห็นว่า การอภิปรายงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญ จึงควร เปิดโอกาสรับฟังความเห็นจาก ส.ว. อย่างถ้วนหน้าให้ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ หากอภิปรายไปแล้วยังไม่จบเมื่อถึงเวลาอันสมควรจะให้อภิปรายต่อในวันที่ 21 ม.ค. ทราบว่า จะมีรัฐมนตรีมาแถลงขอบคุณวุฒิสภา จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางในหลายมาตรา อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว.อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง ต้องปลุกเร้าให้ประชาชนต่อสู้การทุจริตทุกรูปแบบ รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักโทษการทุจริต และมีกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวด ซึ่งมีค่า ใช้จ่ายต่างๆเช่น เงินรางวัลนำจับทุจริต ค่าใช้จ่ายการคุ้มครองพยาน เงินดังกล่าวมาจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตของป.ป.ช. ไม่ใช่เงินบริจาคของเอกชน ซึ่งป.ป.ช.ขอไป 269 ล้านบาท มีแผนงานชัดเจน แต่ปรากฏว่าได้รับงบประ มาณแค่ 10ล้านบาท ถือว่าเสียหายอย่างยิ่ง ทำให้การแก้ปัญหาทุจริตไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่มีงบประมาณดำเนินการ
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.อภิปรายว่า งบรายจ่ายปี2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ต้องระวังไม่ให้รั่วไหล ไม่ใช่ถึงมือประชาชนเหลือแต่ไม้ไอติม ขอตั้งข้อสังเกตงบประมาณด้านการศึกษาที่ไม่ตอบสนองเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เด็กไทยเรียนมากที่สุดในโลก แบกกระเป๋า 5 ก.ก.แต่การเรียนกลับถอยลงเรื่อยๆไปอยู่ที่ 5 ของอาเซียน แสดงว่า เราทำผิดทาง ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้แก้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ แต่ช่วยลดความเหลื่อมได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องมีการปรับและขยายผลให้ดีมากขึ้น อยากให้ดำเนินการต่อไป อีกเรื่องสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ เฟคนิวส์ที่อาจเป็นจริง เพราะมีข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าชี้แจงกมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 สภาผู้แทนราษฎรพบ ความไม่โปร่งใส เนื่องจากมีอดีตรัฐมนตรีซึ่งมีคดีทุจริตติดตัว แต่ได้เป็นอนุกมธ.งบประมาณไปเรียกเจ้าหน้าที่ไปคุยหลังบ้าน เพื่อขอย้ายงบประมาณไปลงที่จังหวัดหนึ่ง หากไม่ให้จะตัดงบประมาณ เรื่องนี้มีคนยืนยันว่า อดีตรัฐมนตรีบางคนใช้วิธีการนี้ ขอให้สภาฯตรวจสอบ เพราะหากพบการทุจริตตั้งแต่ต้นทางต้นทาง เชื่อว่า กลางน้ำ และปลายน้ำจะไม่ทุจริตได้อย่างไร การตั้งกมธ.ของสภาฯ จำเป็นต้องตรวจสอบคนที่ไม่มีคดีทุจริต ไม่ใช่ส่งตามโควตา ขอฝากไปยังนายกฯ และครม. ว่า การโยกงบไปที่ต่างๆ หรือตัดไปนั้น หากสอบดีๆมีเค้าลางการเรื่องนี้ ไม่อยากให้การพิจารณางบปีหน้าเกิดขึ้นอีก
นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่า ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำโครงการของรัฐที่ถูกฟ้องร้อง ทำให้รัฐเสียค่าโง่ รวมมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกันยังมีค่าช่างหัวมันคือ เงินที่รัฐชนะคดีเอกชน แต่ไม่มีการเร่งรัดเอาเงินดังกล่าวมาเป็นรายได้ประเทศ จนคดีขาดอายุความ หรือบางคดีใกล้ขาดอายุความ รวมๆแล้วเงินที่รัฐชนะคดีในหลายหน่วยงานเกือบ 100,000 ล้านบาท แต่ไม่มีการทำอะไรเลย เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอยู่ 5,000 ล้านบาท ทั้งที่ควรนำค่าเสียหายเหล่านี้มาเป็นรายได้ของรัฐ แต่หน่วยงานต่างๆกลับโยนกันไปมา ไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดต่อการปราบการทุจริตและดำเนินคดีกับผู้ทุจริต โดยไม่ปล่อยให้ลอยนวล การทุจริตของบางคนนั้น พบว่า บางคนถึงขั้นลอยอังคารแล้ว แต่รัฐไม่ดำเนินการใดๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากระบบที่ไม่มีบุคคลใดจัดการอย่างจริงจัง ส่วนการปรับลดงบประมาณของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหลือ 10 ล้านบาท คือการไม่ให้เกียรติกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้านการปราบทุจริต