1,000 จุดเสี่ยง'ฝุ่นพิษ' ชง กทม.ผุดป้ายอัจฉริยะแจ้งเตือน
สจล.พบจุดเสี่ยงป้ายรถเมล์ 1,000 แห่ง ได้รับผลกระทบจาก "ฝุ่นพิษ" เร่งชง กทม. ต่อยอดสร้าง "ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ" 5,000 จุดทั่วกรุง รวมทั้งตามหัวเมืองใหญ่
เว็บไซต์ www.dailynews.co.th รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กลายเป็นเรื่องวิกฤติมลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่เมื่อปี 62 จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและต้องรีบแก้ปัญหา เพราะจากรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าการได้รับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายต่อปอดและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากต้นเหตุ โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการควบคุมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่อย่าลืมว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เกิดทุกวันจากควันท่อไอเสียของรถยนต์ ซึ่งในปี 62 ได้มีทีมวิจัยออกวัดค่าปริมาณฝุ่นตามจุดต่างๆของกรุงเทพมหานคร พบว่าปริมาณมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้ง PM2.5 และ PM10 สูงอยู่ตลอดเวลา ในบริเวณป้ายรถเมล์และใต้สถานีรถไฟฟ้าที่เป็นจุดอับ โดยเฉพาะถนนที่มีการจราจรติดขัด อาทิ ถนนราชประสงค์, ถนนสีลม, ถนนพหลโยธิน โดยพบว่ามีป้ายรถประจำทางเป็นจุดเสี่ยงถึง 1,000 ป้าย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวเห็นว่าบริเวณป้ายรถเมล์เป็นอีกจุดที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น การแก้ปัญหาในจุดดังกล่าวจึงจำเป็นและเห็นควรต้องมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ จนเกิดเป็นการสร้าง “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” (KMITL Smart Bus Stop) เตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และ PM 10 ในเขตพื้นที่เมือง และพร้อมใช้งานที่แรก บริเวณป้ายรถประจำทางของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โดยมีองค์ประกอบและฟังก์ชันการทำงานใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่น ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝุ่น พร้อมสั่งการพัดลมให้ทำงานอัตโนมัติเมื่อพบปริมาณฝุ่นเกินมาตรฐาน 2.พัดลมโคจรติดเพดาน จะทำหน้าที่ระบายฝุ่นบริเวณป้ายรถเมล์ให้กระจายออกบริเวณด้านนอก และ 3.จอมอนิเตอร์ด้านข้าง ทำหน้าที่แสดงผลปริมาณฝุ่นและเฉดสีได้ 5 ระดับ โดยเมื่อค่าฝุ่นบริเวณป้ายรถประจำทางเป็นจำนวนมาก พัดลมจะทำงาน ทำให้คนในบริเวณรับรู้ว่ามีค่าฝุ่นเยอะ จะได้หยิบหน้ากากอนามัยขึ้นมาสวมใส่
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนา “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” เตือนภัยฝุ่น คิดค้นขึ้นเป็นต้นแบบแนวคิดการพัฒนาเมือง-คุณภาพชีวิต โดยอยากให้ กทม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้กับป้ายรถประจำทางในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 5,000 จุด และตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ตรวจวัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน กระทบต่อสุขภาพประชาชน.