สดๆ ร้อนๆ ผลวิจัยทดลองที่ จ.กระบี่ ส่งจม.แจ้งเตือนชำระภาษีรถ แบบไหนได้ผลสุด
มาตรการทดลองเชิงพฤติกรรมในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ พบว่า การจูงใจให้ชาวกระบี่รับรู้ถึงพฤติกรรมของพวกพ้องหรือคนส่วนใหญ่ในชุมชนหรือในพื้นที่ของตนเอง จะได้รับผลสำเร็จ ค่อนข้างดีในการเร่งรัดภาษีรถยนต์ค้างชำระ
ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐบาลจัดเก็บให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก ปีงบประมาณ 2561 รายได้จากการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์มีจำนวนกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 ของรายได้ที่รัฐบาลเก็บให้แก่ อปท.จำนวนกว่า 2.2 แสนล้านบาท (ณ เดือนธันวาคม 2561)
แม้ภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียน แต่ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า มีจำนวนรถยนต์จดทะเบียนทั้งสิ้น 40.2 ล้านคันโดยประมาณ ซึ่งพบว่า มีรถค้างชำระภาษีและค่าธรรมเนียมจำนวน 9.9 ล้านคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.86 หรือคิดเป็นเงินกว่า 6.2 พันล้านบาท (อ่านประกอบ:นักวิชาการชี้เจ้าของรถค้างต่อภาษี รัฐสูญรายได้กว่า 6.2 พันล้านบาท )
ประเด็นปัญหาการค้างชำระภาษีรถ ล่าสุดมีผลการศึกษาของดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านการคลังสาธารณะ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ที่ได้วิจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์ในการเร่งจัดภาษีรถค้างชำระ โดยศึกษาการเร่งรัดจัดเก็บภาษีรถค้างชำระในจังหวัดกระบี่ ซึ่งก่อนศึกษา คณะผู้วิจัยได้มีการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมการสัมภาษณ์ และประชุมหารือร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัด และผู้บริหาร อบจ. กลุ่มตัวอย่าง 4 แห่ง (อบจ.เชียงใหม่ อบจ.สงขลา อบจ.อุบลราชธานี และอบจ.สิงห์บุรี)
คณะผู้วิจัย พบปัญหาการค้างชำระภาษีรถ มีสาเหตุหลักมาจาก 2 กลุ่ม ได้แก่
- ผู้ชำระภาษี ซึ่งอาจขาดความรู้ความเข้าใจ เหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือมีพฤติกรรมหย่อนยานหรือเพิกเฉยในการชำระภาษีให้ครบถ้วนและถูกต้องตามกฎหมาย หรืออาจหลงลืมหรือเข้าใจผิด โดยเฉพาะกรณีที่ได้ขาย (โอนลอย) หรือเลิกใช้รถยนต์ไปแล้ว
- กรมการขนส่งทางบก ขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรในการติดตามเร่งรัดภาษีค้างชำระ และอาจเป็นเพราะบทลงโทษตามกฎหมายไม่รุนแรงเพียงพอ
สำหรับมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีได้ดำเนินการ : กรณีตัวอย่างกระบี่
ประสบการณ์ของประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ หรือ Behavioral Insights Team (BIT) ขึ้นในปี ค.ศ. 2010 ตามนโยบายนายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ต้องการปรับปรุงบริการสาธารณะและประหยัดงบประมาณของประเทศ โดยใช้ แนวทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน (Nudge) เพื่อก่อให้เกิดผลในเชิงบวกต่อสังคมในส่วนรวม จากแนวคิดและประสบการณ์ดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้นำมาประยุกต์ใช้ในการติดตามภาษีรถยนต์ค้างชำระใน กรณีของประเทศไทย โดยการออกแบบเนื้อหาและดำเนินการส่งข้อความแจ้งเตือนทางจดหมาย (mail) ซึ่งได้พัฒนาตัวแบบข้อความหรือข้อมูลที่มีเนื้อหาลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
(1) กลุ่มควบคุม (Control group): กลุ่มผู้ค้างชำระภาษีรถยนต์ที่ได้รับจดหมายแจ้งขอความร่วมมือด้วยภาษาราชการ (standard message) พร้อมแจ้งช่องทางในการชำระภาษีผ่าน Internet หรือ QR Code (จดหมายแบบ ก. )
(2) กลุ่มทดลอง (Experimental group): กลุ่มที่ได้รับจดหมายแจ้งเตือน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ตามลักษณะข้อความของจดหมายแจ้งเตือน ได้แก่
(2.1) Majority Message คือ การใช้ข้อความสื่อให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นผู้ชำระภาษีรถยนต์ตรงเวลา โดยหวังว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่จะมีผลเชิงกระตุ้นให้กลุ่มคนที่เหลือมาชำระภาษีคงค้างได้ พร้อมกับแจ้งช่องทางในการชำระภาษีผ่าน Internet หรือ QR Code (จดหมายแบบ ข. )
(2.2) Good Citizen Message คือ การใช้ข้อความหรือรูปภาพในเชิงบวก เพื่อสื่อให้ผู้รับตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมืองที่ดีในการจ่ายภาษีอากร พร้อมกับแจ้งช่องทางในการชำระภาษีผ่าน Internet หรือ QR Code (จดหมายแบบ ค. )
(2.3) Positive Public Service Message (หรือ Public goods) คือ การใช้ข้อความหรือรูปภาพ ในเชิงบวกที่สื่อให้เห็นประโยชน์ของการจัดบริการสาธารณะจากเงินภาษีและค่าธรรมเนียมรถ เช่น การนำไปพัฒนาเส้นทางใหม่หรือซ่อมบำรุงถนนหนทางในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พร้อมภาพประกอบจริงเพื่อให้เห็นตัวอย่าง เป็นรูปธรรม พร้อมกับแจ้งช่องทางในการชำระภาษีผ่าน Internet หรือ QR Code (แบบ ง. )
(2.4) Negative Public Service Message (หรือ Public bads) คือ การใช้ข้อความหรือรูปภาพ ในเชิงลบที่สื่อให้เห็นว่า การค้างชำระภาษีรถยนต์ จะทำให้ท้องถิ่นขาดแคลนงบประมาณหรือไม่สามารถจัดบริการให้ได้อย่างทั่วถึง เช่น ภาพถนนหนทางในจังหวัดที่ได้รับการซ่อมแซมที่ล่าช้า เป็นต้น พร้อมกับแจ้ง ช่องทางในการชำระภาษีผ่าน Internet หรือ QR Code (จดหมายแบบ จ. )
ในการนี้ คณะผู้วิจัยร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดกระบี่ และผู้บริหาร อบจ.กระบี่ กำหนดแนวทางส่งจดหมายเร่งรัดภาษีรถค้างชำระโดยใส่ข้อความแบบต่าง ๆ เพิ่มเติมจากจดหมายแจ้งตามแบบราชการปกติ และได้กำหนดให้ทดลองในกลุ่มตัวอย่างพื้นที่ขนาดเล็ก ได้แก่ ตำบลจำนวน 5 แห่งในอำเภอเมืองกระบี่ และทดลองกับรถบางประเภทที่จะมีผลต่อรายได้ที่สูง (high impact) ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รย. 1) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง (รย. 2) และรถบรรทุกส่วนบุคคล (รย. 3) และได้ใช้วิธีสุ่มอย่างง่าย (random assignment) เพื่อกำหนดรูปแบบจดหมายที่จะจัดส่งเร่งรัดภาษีในแต่ละตำบล ดังนี้
(1) ตำบลปากน้ำ เป็นรูปแบบจดหมายภาษาราชการ (standard)
(2) ตำบลไสไทย ใช้จดหมายเชิญชวนชาวกระบี่ส่วนใหญ (ร้อยละ 74.5) ได้ชำระภาษีรถตรงเวลา (majority)
(3) ตำบลกระบี่ใหญ่ ใช้รูปแบบจดหมายแจ้งเตือนหน้าทขี่องพลเมืองดี ในการชำระภาษี (good citizen)
(4) ตำบลหนองทะเลใช้รูปแบบที่สื่อให้เห็นว่าภาษีรถถูกนำไปพัฒนาเส้นทาง คมนาคมในจังหวัดกระบี่ (public goods)
และ (5) ตำบลกระบี่น้อยใช้รูปแบบจดหมายที่สื่อให้เห็นผลกระทบ จากการขาดแคลนงบประมาณในการบำรุงรักษาถนนในจังหวัดกระบี่ (public bads)
คณะผู้วิจัยได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลรถที่คงค้างชำระภาษีจากสำนักงานขนส่งจังหวัดกระบี่ และ อบจ.กระบี่ ก่อนดำเนินการส่งจดหมายแจ้งเจ้าของรถให้มาชำระภาษีค้างเป็นจำนวน 2 ครั้ง
2. ผลการทดลองในการเร่งรัดจัดเก็บภาษีรถค้างชำระในจังหวัดกระบี่
ในภาพรวม ผลการติดตามเร่งรัดภาษีรถคงค้างโดยการส่งจดหมายแบบต่าง ๆ ทั้ง 2 ครั้ง จากจำนวนจดหมายที่จัดส่งทั้งสิ้น 2,013 ฉบับ และมียอดภาษีรถคงค้างรวม 8.211 ล้านบาท
เมื่อคณะผู้วิจัยได้ส่งจดหมายติดตามเร่งรัดแล้ว พบว่า มีผู้ที่มาชำระภาษีรถคงค้างจำนวนรวม 139 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 6.91 โดยเฉลี่ยของจำนวนรายทั้งหมด และจัดเก็บภาษีคงค้างได้รวม 519,266.26 บาท หรือ จัดเก็บได้ราวร้อยละ 6.32 ของภาษีรถคงค้างทั้งหมดโดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประสิทธิผลของรูปแบบเนื้อหาของจดหมายเร่งรัดภาษีในลักษณะต่าง ๆ นั้น พบว่า มีความแตกต่างกันในการติดตามเร่งรัดภาษีค้างชำระ (พิจารณาจากจำนวนรายที่ลดลง)
- จดหมายราชการแบบดั้งเดิม (standard) พบว่า ส่งผลกระตุ้นให้ผู้ค้างชำระภาษีราวร้อยละ 6.39 มาชำระภาษี
- จดหมายแบบสะท้อนปัญหา (public bads) ได้ผลในเชิงกระตุ้นร้อยละ 7.01
- จดหมายรูปแบบพลเมืองดี (good citizen) ได้ผลในเชิงกระตุ้นราวร้อยละ 7.20
- จดหมายแบบชาวกระบี่ส่วนใหญ่ (majority) ได้ผลในเชิงกระตุ้นสูงสุดคือประมาณร้อยละ 8.50 ของจำนวนรายที่ค้างชำระ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ จดหมายที่มีลักษณะสื่อความให้เห็นว่า เงินภาษีรถยนต์ถูกนำไปใช้ในการพัฒนา เส้นทางภายในจังหวัดกระบี่ (public goods) กลับได้ผลน้อยที่สุดในกลุ่มวิธีการนี้ หรือราวร้อยละ 5.43 และเป็นระดับประสิทธิผลที่น้อยกว่าจดหมายราชการแบบดั้งเดิม
บทสรุปเบื้องต้น มาตรการทดลองเชิงพฤติกรรมในพื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัดกระบี่ พบว่า การจูงใจให้ชาวกระบี่รับรู้ถึง พฤติกรรมของพวกพ้องหรือคนส่วนใหญ่ในชุมชนหรือในพื้นที่ของตนเอง (majority) จะได้รับผลสำเร็จ ค่อนข้างดีในการเร่งรัดภาษีรถยนต์ค้างชำระ ฉะนั้น รูปแบบจดหมาย แบบ Majority สามารถผลักดันให้เกิดการขยายผลการดำเนินการในวงกว้าง และน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่ม รายได้ภาษีของท้องถิ่นจากการติดตามเร่งรัดภาษีรถยนต์ค้างชำระได้
นอกจากนี้ บททดสอบเชิงลึกโดยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเงินภาษีไปใช้ประโยชน์ ยังพบว่า การแจ้งเตือนให้ประชาชนมาชำระภาษีอยู่เป็น ประจำ (regular) มีส่วนช่วยให้ติดตามเร่งรัดภาษีได้เพิ่มขึ้น (interactive effect) ขณะที่การให้ข้อมูลพร้อมบทลงโทษในการแจ้งเตือนให้ชำระภาษีรถคงค้าง การให้น้ำหนักกับมาตรการบทลงโทษตามกฎหมายเพียง ด้านเดียวก็อาจไม่เพียงพออีกต่อไป ส่วนการแจ้งเตือนประชาชนโดย วิธีการสื่อให้ประชาชนเห็นข้อมูลว่ามีการนำเงินภาษีไปใช้ประโยชน์อย่างไร (tax-public service linkage) จะต้องดำเนินการเชิงประจักษ์และมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ จึงจะทำให้เกิดการกระตุ้นความเต็มใจในการชำระภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการดำเนินการและความสามารถในการขยายผลในเชิงนโยบาย คณะผู้วิจัยใช้ตัวเลขผลการจัดเก็บรายได้ทั้งหมดจากเงินภาษีรถคงค้างที่จัดเก็บได้ใน ครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวน 820,353.36 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการศึกษาวิจัยที่มีตัวเลขเท่าเดิม เพื่อประเมิน อัตราส่วนความคุ้มค่าอีกครั้ง จะพบว่า มีสัดส่วนเท่ากับ 820,353.36/191,413.42 บาทหรือเท่ากับ 4.3 เท่า ซึ่งยังคงเป็นอัตราส่วนที่มีน้ำหนักในการผลักดันให้เกิดการขยายผลการดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ในวงกว้างได้ ต่อไปเช่นกัน
และในระยะยาว ต้นทุนทางอ้อมในการดำเนินการและค่าบริหารจัดการน่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง และจะเหลือเพียงเฉพาะต้นทุนทางตรงเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ระดับความคุ้มค่าเพิ่มสูงขึ้นได้
ขอบคุณภาพประกอบ:https://www.drivedee.com
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/