'เศรษฐกิจพัง ประเทศไร้ความหวัง' วีรพงษ์ รามางกูร
"...เวลาไปเจรจาการค้าหรือเชื้อเชิญใครเขามาลงทุน เขาก็ไม่อยากมาหรอก เพราะนายกฯ มียศนายพล ไม่มีใครเขาพูดด้วย ในโลกนี้มีแบบนี้ไม่กี่ประเทศ มันเป็นระบบการปกครองที่ล้าสมัย ล้าหลังแล้ว ดังนั้นผมคิดว่า 5 ปีที่อยู่นี้ รัฐบาลอาจอยู่ได้ แต่เศรษฐกิจของประเทศอาจจะอยู่ไม่ได้..."
เว็บไซด์ www.voicetv.co.th เผยแพร่บทสัมภาษณ์ 'อาจารย์โกร่ง' หรือ 'ดร.วีรพงษ์ รามางกูร' อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวัย 76 ปี ที่ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์ออนไลน์' โดยระบุ เศรษฐกิจปี 2563 จะเผาจริง ก็ไม่ผิด เพราะเศรษฐกิจปีนี้ จะซบเซาต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาแล้วในปีที่ผ่านมา เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงขาลง
"การส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัว ก็มีสาเหตุหลักมาจากอัตราแลกเปลี่ยนของเราแข็งกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทของเราเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562 แข็งค่าที่สุดในโลก มันเป็นไปได้ยังไง แสดงว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีสติปัญญา ไม่มีความสามารถพอ จะบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันผู้ส่งออกของเรา ไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งคู่ค้าได้" ดร.วีรพงษ์ระบุ
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างซบเซาไปหมด ส่งออกหดตัว ราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม อ้อย และน้ำตาล ทั้งหมดนี้ราคาตกทั้งสิ้น ทำให้รายรับของคนส่วนใหญ่ของประเทศตกลงไปด้วย อย่างนี้แรงซื้อ หรือ อำนาจซื้อของคนในประเทศก็หดหายไป
ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็ไม่สามารถจะผลิตหรือเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิตได้ เพราะข้างในแรงซื้อไม่มี ข้างนอกก็แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้
นี่คือ 2 ปัจจัยที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัว
ดร.โกร่ง ฉายภาพเศรษฐกิจมหภาคที่ถูกผูกปมปัญหาแล้วยากจะแก้ไขในเวลานี้ อีกเรื่องว่า การที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เดินเครื่องจักรเพียงร้อยละ 60 ของกำลังการผลิต อันนี้ทำให้ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่ม เพราะเครื่องจักรที่มีอยู่เดิม ก็ยังใช้ไม่เต็มที่
เป็นอาการ 'เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยติดล็อก' ทั้งการลงทุน การบริโภคของคนภายในประเทศ การส่งออก ต่างซบเซาไปหมด ซึ่ง ดร.วีรพงษ์ ตำหนิว่า อาการเหล่านี้เป็นผลจากนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ความผิดพลาดของนโยบายการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เพียงพอ นโยบายการส่งเสริมการส่งออกที่ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่ประจักษ์ และสิ่งที่เห็นชัดคือ บาทแข็งค่าจนการส่งออกหดตัว
แล้วการนำเข้ายังหดตัวมากกว่าการส่งออกเสียอีก อาการนี้จึงทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล ทำให้เงินบาทแข็งค่า
"ปกติดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้าเกินดุล จะเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง แต่อันนี้เศรษฐกิจซบเซา เงินบาทแข็งค่าเพราะไม่ได้มีการจัดการให้เรียบร้อย ที่สำคัญการอธิบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ของรัฐมนตรีคลัง ของรองนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ไม่เข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจ และภาวะเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทย เมื่อไม่เข้าใจแล้ว จะไปแก้ไขได้อย่างไร"
"อันแรกต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เหตุและผลมันเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่า ปี 2563 นี้ ภาวะเศรษฐกิจจะหนักหนายิ่งกว่าปี 2562 เสียอีก เพราะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณว่า ตัวไหนจะฟื้น" ดร.วีรพงษ์ กล่าว
รัฐบาลทำเศรษฐกิจ 'ไม่ฟื้น' แต่ 'พัง'
พร้อมอธิบายต่อว่า สถานการณ์อย่างนี้เท่าที่เคยเห็นมา รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ แต่จะทำให้เศรษฐกิจพังได้ แล้วเมื่อเศรษฐกิจพังแล้ว ภาครัฐที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของจีดีพี ผ่านรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของจีดีพี มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว
ส่วนสถานการณ์นี้จะยาวหรือไม่ ขึ้นกับ 2 ปัจจัย คือ อันแรก เศรษฐกิจโลก ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่าจะฟื้นช้า หรือ ฟื้นเร็ว อันที่สอง นโยบายภายในประเทศจะเป็นอย่างไร
"อันแรก ผมคิดว่า ไม่ฟื้นง่าย แล้วราคาข้าว ยาง สินค้าเกษตรต่างๆ ก็เป็นไปตามวัฏจักร ที่อย่างน้อยๆ คงอีกสัก 5 ปี กว่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน การที่เรามีรัฐบาลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เวลาไปเจรจาการค้าหรือเชื้อเชิญใครเขามาลงทุน เขาก็ไม่อยากมาหรอก เพราะนายกฯ มียศนายพล ไม่มีใครเขาพูดด้วย ในโลกนี้มีแบบนี้ไม่กี่ประเทศ มันเป็นระบบการปกครองที่ล้าสมัย ล้าหลังแล้ว ดังนั้นผมคิดว่า 5 ปีที่อยู่นี้ รัฐบาลอาจอยู่ได้ แต่เศรษฐกิจของประเทศอาจจะอยู่ไม่ได้"
ฟังแล้วดูจะเป็น "ความจริง" ที่ยากจะยอมรับได้ แต่นี่คือสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ผูกโยงกับระบบการเมืองของประเทศ และยิ่งฟังจะยิ่งหมดหวัง ซึ่งเมื่อสอบถามกับดร.วีรพงษ์ ในหลายๆ ช่วงของการสัมภาษณ์ว่า แล้วเราจะมีความหวังอะไรได้ไหม คนรุ่นใหม่จะทำอย่างไร ?
คำตอบจากผู้อาวุโส บอกตรงๆ ว่า "ความหวังของประเทศแทบไม่มีเลย คนจะไม่มีทางทำมาหากินได้ ถ้ารัฐบาลยังเป็นอยู่อย่างนี้ มีวิธีคิดทหารอย่างนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นก็คงจะยาก หรือคงไม่มี เพราะรัฐบาลเผด็จการทหาร ความคิดความอ่านจะไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จากประชาธิปไตย ซึ่งมีรัฐมนตรีมาจากภาคธุรกิจ มาจากคนที่ใกล้ชิดกับประชาชน ที่มีความคิดความอ่านในการรื้อฟื้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจ"
ย้อนอดีตวิกฤตเศรษฐกิจ ปะทุวิกฤตทางการเมือง
ถึงตอนนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองไทยในขณะนี้ว่า ความซบเซาทางเศรษฐกิจจะผลักดันให้ประชาชนทนไม่ได้ และนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่
ดร.วีรพงษ์ เล่าย้อนว่า ทุกครั้งที่มีความรุนแรงทางการเมือง มีประชาชนลงถนนประท้วง ล้วนเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังวิกฤตน้ำมัน สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเหตุการณ์ Black Monday เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น
ครั้งที่ 2 เกิดจากราคาน้ำมันขึ้นราคา สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ซัพพลายหรือปริมาณการผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางลดลง ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น จึงเกิดการปฏิวัติโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ รสช.
ครั้งที่ 3 ไม่ได้เกิดจากราคาน้ำมัน แต่อันนี้ในประเทศเราทำตัวเอง คือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แล้วเพิ่งมาสงบเรียบร้อยเมื่อไม่นานมานี้
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
เมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองไทย ณ วันนี้ ดร.วีรพงษ์ บอกว่า "เที่ยวนี้ภาวะเศรษฐกิจกำลังจะเป็นตัวทำให้เกิดปัญหา ทั้งที่เสถียรภาพทางด้านการเงิน เสถียรภาพในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และเสถียรภาพอื่นๆ ค่อนข้างดี ประเทศไทยไม่มีปัญหาการขาดดุลการค้า หรือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากมายอะไร แต่ตอนนี้จะเกิดวิกฤตการณ์จากการส่งออกหดตัว ส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ไม่ได้ เมื่อธุรกิจอยู่ไม่ได้ ก็ลดค่าใช้จ่าย ลดค่าโฆษณา สื่อสารมวลชนและการบันเทิงก็อยู่ไม่ได้ เกิดความเดือนร้อนทั่วไป และสิ่งเหล่านี้จะดำรงคงอยู่"
ดังนั้น เมื่อถามถึงความหวัง จึงบอกได้ว่า "มันไม่มี" และตอนนี้จึงถึงเวลาที่น่าจะรู้กันแล้วว่า การที่ไม่มีประชาธิปไตยเป็นอย่างไร แล้วมันจะมีความหวังได้อย่างไร เมื่อความหวังจะมีประชาธิปไตยยังไม่มี เวลาเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่การเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มีวุฒิสมาชิกร่วมเลือกด้วย เลือกแล้วก็ยังได้คนเก่าเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่รู้จะเลือกตั้งไปทำไม
"แล้วอย่างนี้จะมีความหวังอย่างไรได้ ส่วนคนรุ่นใหม่ ก็เตรียมตัวพัง จบมาไม่มีงานทำ"
ดร.วีรพงษ์ ยอมรับว่า ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ทางการเมืองได้ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ เรื่องการเมืองพยากรณ์ไม่ได้ ไม่เหมือนเรื่องเศรษฐกิจ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนประชาชน
ดังนั้น เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็อย่าไปหวัง เพราะผู้มีอำนาจไม่ให้แก้แน่นอน เป็นคำปิดท้ายบทสนทนากับอดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใน 2 รัฐบาลที่มีนายกฯ มีตำแหน่งพลเอก (รัฐมนตรีคลังยุครัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และรองนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/