"ยูเนสโก"เผยเด็ก 67 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียน ผู้ใหญ่ 796 ล้านอ่านไม่ออก
ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมการศึกษาเพื่อปวงชน 45 ประเทศเข้าร่วม กำหนดเป้าช่วยเด็กด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ ขยับอัตรารู้หนังสือผู้ใหญ่ให้ได้ร้อยละ 50 ยูเนสโกเผยเด็ก 67 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ-จำนวนมากไม่จบประถม ประเทศส่วนใหญ่ด้อยสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
วันที่ 3มี.ค.54 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายควาง โจ คิม ผู้อำนวยการองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด.ศธ.) ร่วมกันแถลงข่าวจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนครั้งที่ 10 ซึ่งจะจัดขึ้น 22-24 มี.ค.นี้ ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จอมเทียน-พัทยา จ.ชลบุรี
โดยนายชินวรณ์ กล่าวว่า 20 ปีที่แล้ว ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกเรื่องการศึกษาเพื่อปวงชน โดยมี 155 ประเทศเข้าร่วม และได้มีการรับรองปฏิญญาจอมเทียน ซึ่งระบุเป้าหมายร่วมกัน 6 ข้อ ภายในปี 2543 ดังนี้ 1.จะขยายการดูแลเด็กปฐมวัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอื่นๆโดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ 2.จะขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2543 ข้อ 3.จะปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนผ่านมาตรฐานที่สูงขึ้น 4.จะลดอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่ในปี 2543 ให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอัตราปี 2533 ข้อ5.จะขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเยาวชนและผู้ใหญ่ และ 6.จะเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ค่านิยมที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลและครอบครัว
ภายหลังจากการประชุมครั้งนั้นในปี 2543 ยูเนสโกได้จัดประชุมเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล ปรากฏว่าประเทศสมาชิกยังไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าดังกล่าว ดังนั้นที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุการศึกษาเพื่อปวงชนภายในปี 2558 ไว้ในกรอบปฏิญญาดาการ์ ดังนี้ 1.ขยายและปรับปรุงการศึกษาและการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะเด็กที่เปราะบางและด้อยโอกาส 2.จัดให้เด็กทุกคน ไม่ว่าเด็กชายหรือหญิง เด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก เด็กชนกลุ่มน้อยสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพ
3.จัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้ใหญ่ผ่านโครงการทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน 4.พัฒนาอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ข้อ 5.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาระดับประถมและมัธยม โดยเน้นการเข้าถึงของเด็กผู้หญิงและทำให้เกิดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ 6.พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกด้านและรับรองความเป็นเลิศทั้งหมด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ชัดเจนและสามารถวัดได้ โดยเฉพาะการรู้หนังสือ การคำนวณตัวเลขและทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต ที่ประชุมยังเห็นว่าควรมีการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชนทุกปี เพื่อให้ผู้นำด้านการศึกษาของประเทศสมาชิกมาร่วมกันระดมความคิดเห็นติดตามการดำเนินงานด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
นายชินวรณ์ ยังกล่าวว่า สำหรับไทยมีเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเพียง 3% ทั้งนี้ในการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ ศธ.ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมครั้งนี้ ยูเนสโกได้เชิญผู้นำด้านการศึกษาของ 45 ประเทศเข้าร่วมประชุม รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายนายควางโจ คิม กล่าวว่าจากรายงานการศึกษาเพื่อปวงชน พ.ศ.2554 ขององค์การยูเนสโก พบว่า ยังมีเด็กอีกกว่า 67 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการศึกษา และยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต้องออกจากการศึกษากลางคัน อีกทั้งสถิติ พ.ศ.2551 ระบุว่ายังมีผู้ใหญ่อีก 796 ล้านคนที่ขาดทักษะพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งถือเป็นร้อยละ 17 ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลก และเกือบสองในสามของผู้ใหญ่กลุ่มนี้เป็นผู้หญิง ทั้งนี้การขาดแคลนเงินสนับสนุนเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน โดยมีเพียง 6 ประเทศที่สนับสนุนด้านการเงินร้อยละ 62 แก่การศึกษาขั้นพื้นฐาน.