พปชร. ยื่นญัตติด่วน ตั้งกมธ.ศึกษาสร้าง 2 เขื่อนลำน้ำโขง แก้ภัยแล้งอีสาน
‘สมศักดิ์ คุณเงิน’ ส.ส. พปชร. เสนอญัตติด่วน ตั้ง กมธ. ศึกษาโครงการสร้างเขื่อนมิตรภาพลำน้ำโขง จ.เลย - เขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลฯ แก้วิกฤตภัยแล้งอีสาน อ้างจีน-ลาว ได้ประโยชน์จากเขื่อนเต็มที่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นเสนอญัตติด่วน ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการ สร้างเขื่อนมิตรภาพลำน้ำโขงในพื้นที่ อ.ปากชม จ.เลย และ เขื่อนบ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้งภาคอีสาน โดยระบุถึงปัญหาลำน้ำโขงแล้งในรอบ 50 ปี อีกทั้งยังระบุว่า ทั้งประเทศจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ใช้ประโยชน์จากลำน้ำโขงอย่างเต็มที่จากการสร้างเขื่อน แต่ประเทศไทยยังไม่มีเขื่อนในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ อีก 14 คน ร่วมเข้าชื่อเสนอญัตติดังกล่าวด้วย
รายละเอียดหนังสือ ระบุว่า
ด้วยปรากฏการณ์ภัยแล้งในภาคอีสานเกิดต่อเรื่องมาอย่างยาวนาน จนปัจจุบันกลายเป็นวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก ครอบคลุมทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน จนส่งผลกระทบให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวและพืชไร่ไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร จนภาคอีสานประกาศเป็นเขตพื้นที่วิกฤตภัยแล้ง 7 จังหวัด ปัจจุบัน ปรากฏการณ์น้ำในลำน้ำโขงแห้งหายมีระดับน้ำลดลงมากกว่าปกติ ทั้งที่อยู่ในช่วงปลายของฤดูฝน ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวก็ตาม แต่ในลำน้ำโขงลดลงจนน้ำโขงเหือดแห้ง สามารถเดินลงไปกลางแม่น้ำได้ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างที่ไม่เคยประสบในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา
ด้วยตระหนักถึงแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีกฎเกณฑ์กติกาทางสากลที่ต้องปฏิบัติตาม แต่การวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริง ปัจจัย ลำน้ำโขงในส่วนที่ไหลผ่านประเทศจีนมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่า 10 แห่ง ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นั้น ก็มีการสร้างเขื่อนในทำนองเดียวกัน และกำลังสร้างเพิ่มอีกกว่า 5 แห่ง
จึงเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศที่อยู่ตอนบนได้ใช้ประโยชน์จากลำนำโขงอย่างเต็มที่ มีเพียงประเทศไทยที่มีลำน้ำโขงทอดยาวผ่านพรมแดนกว่า 800 กม. กลับไม่มีโครงการในลักษณะทำนองเดียวกันเลย ทั้งที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะภูมิภาคอีสาน จำนวนกว่า 50 ล้านไร่
อีกทั้งมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเข้ามาสู่ระบบเพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกจำนวนมาก แต่ยังขาดแคลนจนต้องนำเข้าไฟฟ้ามาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ดังปัจจุบันนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในเรื่องการสร้างเขื่อนมิตรภาพลำน้ำโขงที่ อ.ปากชม จ.เลย และเขื่อนบ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 49 และข้อ 50 ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ ต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/