การบินพลเรือนฯ เตรียมปรับกฎหมายคุมเข้มการใช้ “โดรน”
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เตรียมยกเครื่องกฎหมายโดรนทุกลำต้องขึ้นทะเบียน ส่วนผู้บังคับต้องมีใบอนุญาต ไปจนจัดโซนนิ่ง หลังพบการนำโดรนมาใช้เชิงพาณิชย์มากขึ้น
เว็บไซต์ www.pptvhd36.com รายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ ซีเอเอที เปิดเผยว่า การกับกับดูแลในปี 2563 นี้ จะทำการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายเดิมบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว และยังพบว่าในปัจจุบันโดรนถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพ การตรวจสอบการก่อสร้างเส้นทาง การตรวจสอบสายส่งไฟฟ้า ไปจนถึงการเกษตร ซึ่งมีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย ไปจนถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้เช่นกัน จึงต้องการปรับให้กฎหมายทันกับสากล เช่น บังคับจดทะเบียนโดรน กับทาง กสทช., การทำใบอนุญาตผู้ขับขี่โดรน จากสำนักงานการบินพลเรือน จนถึงการจัดโซนนิ่งการใช้พื้นที่น่านฟ้า แต่จะเน้นกับกรณีการใช้เชิงพาณิชย์เป็นหลัก กรณีโดรนขนาดเล็กอาจไม่เข้าไปควบคุม และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ นายจุฬา ยังบอกอีกว่า ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ จะทำการปลดล็อกให้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งผู้ป่วยสามารถจอดนอกเหนือสนามบินได้ ให้เข้าถึงที่เกิดเหตุ ไปจนถึงรับ-ส่ง ผู้บาดเจ็บหรือบุคลากรทางการแพทย์นอกเขตสนามบินได้ เพื่อที่จะยกระดับการช่วยเหลือทางการแพทย์ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยนั้น เติบโตแบบชะลอตัวเช่นเดียวกับทั่วโลก จากหลายปัจจัยฉุดรั้ง เช่น ราคาเชื้อเพลิงในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ค่าจ้างบุคลากรสูงขึ้น ดูได้จากการคาดการณ์สถิติการขนส่งผู้โดยสารในปีที่ผ่านมา 2562 มีผู้โดยสารทั้งสิ้น 165 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 760 ล้านคน ลดลง 3.1% และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 88 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.3% เห็นได้ว่าคนไทยนิยมเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น