โยกหนี้แสนล.ให้รัฐ-ฟื้นแผนเช่ารถเมล์ ดึง ‘ขสมก.’ พ้นหล่มเหว ?
"...ถ้าขสมก.จะสตาร์ทใหม่ หนี้เก่าคงไม่ต้องพูดถึง รัฐคงต้องรับภาระไปเลย เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ดอกเบี้ยเพิ่มทุกวัน แต่เมื่อรัฐรับไปแล้ว ขสมก.ยุคใหม่ที่ไม่มีหนี้ ต้องมีประสิทธิภาพ..."
จบลงด้วยดี ไม่มีเหตุวุ่นวาย สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังการประชุมรอบที่แล้ว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 21 พ.ย.2562 ต้อง ‘ล่มไม่เป็นท่า’ เนื่องจากสหภาพฯและพนักงานขสมก. 200 คน บุกไปคัดค้านแผนฟื้นฟูฯ ฉบับ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ถึงที่ประชุม
เนื้อหาสาระของแผนฟื้นฟูฯใหม่ของ ขสมก. ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ และนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ขสมก. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนก.พ.2563 นั้น มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น ได้แก่
1.การเช่ารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถ NGV ,รถ EV และรถ Hybrid จำนวน 2,511 คัน มาวิ่ง ทดแทนรถโดยสารเดิมที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม เพื่อลดต้นทุนการจัดหาและซ่อมบำรุง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 50.25 บาท/กม. พร้อมทั้งจัดเก็บค่าโดยสารในรูปแบบตั๋วรายวัน อัตราค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาท/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว
2.ปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ไม่ให้มีความทับซ้อน และผู้ใช้บริการใช้เวลารอรถไม่เกิน 5-10 นาที 3.นำระบบ GPS และบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) มาใช้ในการบริหารจัดการเดินรถ 4.ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสม
5.ให้พนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานสนับสนุน เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ด้วยความสมัครใจ โดยตั้งเป้าพนักงานเข้าโครงการ 5,051 คน วงเงินชดเชย 6,004 ล้านบาท 6.การบริหารจัดการพื้นที่อู่บางเขน และอู่มีนบุรี ให้เป็นพื้นที่เชิงธุรกิจ และ7.ให้ภาครัฐเข้ามารับภาระหนี้สินของขสมก.
“กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ขสมก. ปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯขสมก.อีกครั้ง เพราะเห็นว่าหาก ขสมก.ใช้แผนฟื้นฟูฉบับเดิมที่ผ่านการเห็นชอบจากครม.เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2562 แม้ว่าจะทำให้ ขสมก. มีผลประกอบการที่ดีในระยะสั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วก็จะกลับเข้าสู่วงจรขาดทุนอีก” นายศักดิ์สยาม กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงเชิงปฏิบัติการแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายต่างก็จับจ้องแผนฟื้นฟูฯใหม่ คงหนีไม่พ้นการ ‘เช่า’ รถเมล์กว่า 2,511 คัน เพราะเคยเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรื่อเมื่อปี 2552 ซึ่งนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทยในสมัยนั้น ได้เสนอโครงการเช่ารถเมล์ NGV จำนวน 4,000 คัน
แต่ปรากฎว่าภายใต้ระยะเวลาสัญญาเช่า 10 ปี วงเงินค่าเช่าเป็นตัวเลขสูงถึง 69,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราค่าเช่าและค่าซ่อมบำรุง 4,784 บาท/วัน/คัน สุดท้ายโครงการต้องล้มลงไป เพราะอัตราค่าเช่าที่สูงเกินไป
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. เคยให้สัมภาษณ์ว่า การเปิดประมูลเช่ารถเมล์ขสมก.ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเป็นรถ NGV, รถ EV หรือรถ Hybrid จึงยังไม่มีวงเงินที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะได้เปิดประมูลกลางปี 2563 และส่งมอบรถเมล์ใหม่ล็อตแรกได้ภายใน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลเช่ารถเมล์ใหม่ 2,511 คัน จะแบ่งเป็นหลายสัญญา เพื่อให้ได้เอกชน 2-3 ราย สัญญาเช่ารายละ 800 คัน ส่วนรถเมล์ใหม่ที่เช่ามาวิ่งจะเป็นรถจีน รถเอเชียหรือรถยุโรปนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับเอกชน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ขสมก.ได้เดินหน้าจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 4,261 ล้านบาท
“เราคาดว่าธุรกิจขสมก.จะหยุดขาดทุนได้ภายใน 5 ปี และเริ่มมีกำไรที่ช่วง 5-10 ปี เมื่อกิจการคุ้มทุนแล้วจะยกเลิกการขออุดหนุน PSO จากรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องเข้ามารับภาระหนี้สินของขสมก.ที่เกิดจากนโยบายรัฐบาลเป็นเงิน 80,000 ล้านบาทจากทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท” นายสุระชัยกล่าว
ในขณะที่งบดุล ณ ปีงบ 2561 พบว่า ขสมก. มีหนี้สินรวม 113,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2560 ที่มีหนี้สินรวม 107,098 ล้านบาท ส่วนผลการขาดทุนสะสมในปีงบ 2561 อยู่ที่ 116,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2560 ที่การขาดทุนสะสมอยู่ที่ 110,550 ล้านบาท
ฐานะการเงินของ ขสมก. ที่มา : รายงานประจำปี 2561 ขสมก.
นายสุระชัย ระบุเพิ่มเติมว่า สัญญาเช่ารถเมล์ใหม่จะมีอายุสัญญาเพียง 7 ปี เพื่อทำให้ขสมก.ปรับกลยุทธ์ได้ตามแนวโน้มของผู้โดยสาร โดยจะจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่งให้บริการจริง (บาท/กม.) และกำลังเลือกว่าใช้รถประเภทใด เพราะหากเป็นรถ NGV จะมีกำไรเร็ว แต่หากเป็นรถ EV จะคุ้มค่าในระยะยาว
“เงินลงทุนตามแผนฟื้นฟูฯใหม่จะอยู่ที่ 16,004 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับเงินอุดหนุน (PSO) จากรัฐบาล 10,000 ล้านบาท (5 ปี ปีละ 2,000 ล้านบาท) และโครงการเออร์รี่รีไทร์ 6,004 ล้านบาท โดยไม่มีการใช้เงินในการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ จึงประหยัดจากแผนเดิมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท” นายสุระชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากรวมงบลงทุนตามแผนฟื้นฟูฯใหม่ 1.6 หมื่นล้านบาท และหนี้สินรวมของขสมก.อีก 1.13 แสนล้านบาท ที่ขสมก.จะโอนไปให้รัฐบาลรับผิดชอบ จะทำให้รัฐบาลมีภาระไม่ต่ำกว่า 1.29 แสนล้านบาท
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า นโยบายของขสมก.ที่ว่าจะซื้อหรือเช่ารถเมล์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สว่นตัวเห็นว่าการใช้วิธีการ ‘เช่า’ รถเมล์ถือเป็นทางเลือกที่ดีของ ขสมก.ในตอนนี้ เพราะถ้าซื้อต้องใช้เงินมาก และไม่ว่าจะซื้อหรือเช่า จะพบว่าตลอดระยะเวลาใช้งาน 10 ปี เงินซื้อรถและบำรุงรักษากับค่าเช่าไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าซื้อมา หากรถมีอายุการใช้งานรถเกิน 10 ปี ค่าบำรุงรักษาจะสูงมาก และมูลค่าก็ลดลงเรื่อยๆ
“ตอนนั้นบอกว่าจะเช่ารถเมล์ 6,000-7,000 คัน ต่อมาลดเหลือ 4,000 คัน แต่ก็มีการพูดว่าจะเช่าทำไม ทำไมไม่ชื้อ เพราะเช่าแล้วรถก็ไม่ได้เป็นของขสมก. ถ้าซื้อรถก็ใช้ได้อีก 20-30 ปี แล้วก็สรุปว่าซื้อรถเมล์ 3,000 คัน แต่ตอนนี้ได้มีการสรุปแล้วว่า ไม่ว่าจะเช่าหรือจะซื้อ ต้นทุนก็ไม่ต่างกันมากแล้ว แต่ต้องเช่าตามระยะทางที่วิ่งจริง” นายสุเมธกล่าว
นอกจากนี้ ในหน่วยงาน เช่น อย่าง บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. เอง ก็ใช้วิธีการ ‘เช่า’ และ ‘ซื้อ’ รถโดยสารผสมผสานกัน โดยจังหวะที่บขส.เห็นว่าซื้อแล้วไม่คุ้ม ก็เปลี่ยนมาเป็นเช่า ซึ่งสามารถคุมต้นทุนได้ ดังนั้น ประเด็นที่ ขสมก.ควรให้ความสำคัญ จึงอยู่ที่วิธีบริหารจัดการมากกว่า โดยเฉพาะหากใช้วิธีการเช่า สัญญาต้องรัดกุมและรอบคอบ
ส่วนกรณีที่ขสมก.ระบุว่า จะเก็บค่าโดยสาร 30 บาท/วัน ไม่จำกัดเที่ยววิ่งนั้น นายสุเมธ มองว่า ตรงนี้น่าจะเป็นข้อเสนอที่ยังจะต้องไปทำแผนต่อ แต่ส่วนตัวมองว่าการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน และตอนนี้ประเมินค่อนข้างยากว่า หากเก็บค่าโดยสารในอัตราดังกล่าว รายได้ค่าโดยสารของขสมก.จะเป็นเท่าใด
“คงประเมินได้ค่อนข้างยากว่า วิธีการนี้จะทำให้ขสมก.ไม่ต้องรับเงินอุดหนุนอีกหรือไม่ เพราะหากจะเก็บ 30 บาทตลอดวัน คนที่ขึ้นรถเมล์จะต้องใช้ตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 100% ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลานาน อย่างวันนี้คนที่ขึ้นรถไฟฟ้าประมาณ 30-40% ยังใช้เงินสดไปซื้อตั๋วที่สถานีเลย จึงอยู่ที่ขสมก.ว่ามีทางเลือกอื่นๆหรือไม่” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธ ยังระบุว่า ในส่วนของหนี้สินขสมก.ที่สูงกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น รัฐ ‘ควรตัดจบ’ เพราะไม่มีทางเลยที่การให้บริการรถเมล์ขสมก.จะทำกำไรได้ เมื่อทำกำไรไม่ได้ก็ไม่มีทางคืนหนี้ได้อยู่แล้ว ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีเงินอุดหนุนให้ด้วยซ้ำในแต่ละปี และหากจะลดหนี้ด้วยการขึ้นค่าโดยสาร ค่าตั๋วอาจต้องเป็น 50-60 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้
“ถ้าขสมก.จะสตาร์ทใหม่ หนี้เก่าคงไม่ต้องพูดถึง รัฐคงต้องรับภาระไปเลย เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ ดอกเบี้ยเพิ่มทุกวัน แต่เมื่อรัฐรับไปแล้ว ขสมก.ยุคใหม่ที่ไม่มีหนี้ ต้องมีประสิทธิภาพ และยังอาจต้องได้รับเงินอุดหนุนตามเหมาะสม เช่น ได้รับเงินอุดหนุนตามเปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ถ้าผู้โดยสารลด เงินอุดหนุนลด ถ้าผู้โดยสารเพิ่ม เงินอุดหนุนเพิ่ม” นายสุเมธเสนอ
สุเมธ องกิตติกุล
นายสุเมธ ย้ำว่า “เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ขสมก.มีหนี้ 30,000-40,000 ล้านบาท แต่เขาก็หวังว่า ขสมก.จะมีกำไรแล้วนำเงินมาใช้หนี้ได้ แต่ 15 ปีที่ผ่านมา มีข้อสรุปแล้วว่ารถเมล์ไม่กำไร ขาดทุนแน่ๆ ถ้าเรายังคิดเหมือนเดิม แล้วรออีก 5 ปีหนี้สินก็จะเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท ขสมก.จึงต้องคิดวิธีการใหม่”
นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวว่า สหภาพฯเห็นด้วยกับวิธีการเช่ารถเมล์ ขสมก. ตามแนวทางใหม่ ซึ่งใช้พนักงาน ขสมก.เป็นผู้ขับรถ จากเดิมที่กระทรวงคมนาคมและผู้บริหารขสมก.จะจ้างเอกชนเดินรถทั้งหมดเลย และเหลือพนักงานขสมก.ไว้เพียง 200-300 คน
อย่างไรก็ตาม ในการยกร่างทีโออาร์ประมูลเช่ารถเมล์ 2,511 คัน สหภาพฯขอเข้าไปมีส่วนร่วมยกร่างทีโออาร์ด้วย เช่น รถที่นำมาวิ่งต้องไม่ใช่รถเกรด C ที่ราคาถูกและต้องซ่อมบ่อยมาวิ่ง เพราะจะกระทบต่อการให้บริการประชาชน และควรแบ่งสัญญาเช่าเป็นสัญญาละ 500 คัน เพื่อให้ขสมก.ดูแลได้ทั่วถึง
นายบุญมา เสนอว่า ในความเห็นของสหภาพฯ อัตราค่าเช่ารถเมล์ที่ ขสมก. จ่ายต้องเป็นตามการวิ่งจริง (บาท/กม.) และอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม ซึ่งจะไม่สร้างภาระให้ขสมก.และประชาชน คือ ไม่เกิน 40 บาท/กม. เทียบกับเอกชนที่ต้นทุนการให้บริการอยู่ที่ 37 บาท/กม.
เมื่อทุกอย่างได้ข้อสรุปลงตัว นับจากนี้ไปคงต้องติดตามว่าแผนฟื้นฟูฯ ขสมก.ฉบับ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ จะทำให้ ขสมก. หลุดพ้นจากสภาพองค์กรที่มีหนี้สินนับแสนล้านบาทหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/