กองทุนสุขภาพตำบล หนุนเรือนจำกลางพิษณุโลก ส่งเสริมสุขภาพผู้ต้องขัง
กองทุนสุขภาพตำบล อบต. วังทอง หนุนเรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลก รุก 3 โครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งโครงการอบรมแกนนำสุขภาพ สุขอนามัยช่องปาก คัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อสุขภาพที่ดี เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง เผยประกาศกองทุนสุขภาพตำบลทำได้ ผู้ต้องขังเป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง เป็นประชากรในพื้นที่
ทพ.สันติ ศิริวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นับเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรของพื้นที่ ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการในพื้นที่ ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งเรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่พื้นที่ อ.วังทอง ผู้ต้องขังในเรือนจำจะขึ้นทะเบียนหน่วยบริการที่โรงพยาบาลวังทอง นอกจากผู้ต้องขังจะเข้าถึงสิทธิการรักษาแล้ว ยังได้รับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่หรือท้องถิ่น (กองทุนสุขภาพตำบล) โดยองค์การบริการส่วนตำบลวังทอง (อบต.วังทอง) จะรวมผู้ต้องขังเป็นลูกบ้าน ซึ่ง สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล 45 บาทต่อประชากรในพื้นที่ และ อบต.ร่วมจ่ายเงินสมทบ ทำให้ผู้ต้องขังมีสิทธิได้รับการดูแลจากโครงการต่าง ๆ ภายใต้กองทุนสุขภาพตำบลนี้
ทพ.สันติ กล่าวต่อว่า จากสิทธิสุขภาพและการเล็งเห็นปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำโดยเรือโทวสันต์ คำนวล ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลก ปีงบประมาณ 2563 เรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลกได้นำเสนอ 3 โครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำภายใต้กองทุนสุขภาพตำบล ก่อนเกิดกรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังเกิดขึ้น โดยมี อบต.วังทอง ร่วมสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังทองได้พิจารณาอนุมัติแล้ว ดังนี้
1.โครงการอบรมแกนนำสาธารณสุขในเรือนจำ เพื่อร่วมดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง เนื่องด้วยเรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลกมีผู้ต้องขัง 3,291 คน แต่มีพยาบาลดูแลเพียง 2 คน การดูแลผู้ต้องขังให้ทั่วถึงจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แกนนำสาธารณสุขจะมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเสริมการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของผู้ต้องขังร่วมกับพยาบาล รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติของผู้ต้องขัง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น เพื่อประสานกับพยาบาล ทำให้ให้ผู้ต้องขังได้รับการดูแลโดยเร็ว เรียกว่าเป็นหูเป็นตาด้านสุขภาพในเรือนจำ
2.โครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากของผู้ต้องขังจังหวัดพิษณุโลก ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่ต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิทั่วไป เวลามีฟันผุจะปวดฟันทรมานมาก และอาจนำมาสู่โรคต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นทำอย่างไรจะช่วยลดปัญหาสุขภาพในช่องปากให้กับผู้ต้องขังได้ จึงมีการจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้ต้องรู้จักการแปรงฟันและดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกสุขลักษณะ เชน การบ้วนปากหลังรับประทานอาหาร การสาธิตแปรงฟันให้ถูกวิธี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพที่ดีได้
3. โครงการป้องกันควบคุมโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงในผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ด้วยผู้ต้องขังในเรือนจำกลางจังหวัดพิษณุโลกราวครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1,500 คน มีอายุเกิน 35 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรค NCD หากไม่ป้องกันจะนำมาสู่โรครุนแรงได้ จำเป็นต้องดูแล จึงนำมาสู่การโครงการคัดกรองป้องกันในการปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค โดยมีแกนนำสุขภาพในเรือนจำช่วยดูแล
ทพ.สันติ กล่าวว่า ภาพรวมทั้ง 3 โครงการจะเชื่อมต่อถึงกันหมด ทำให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับผู้ต้องขังเป็นไปอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก โดยมีแกนนำสุขภาพในเรือนจำเป็นกลไกสำคัญในการดูแลผู้ต้องขังด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขภาพที่ดีเพื่อใช้ชีวิตหลังพ้นโทษ โดย อบต.วังทองให้การสนับสนุนโครงการด้วยดี
“อบต.วังทอง เป็นพื้นที่แรกที่มีความชัดเจนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับผู้ต้องขังโดยใช้งบกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 สามารถทำได้ เพราะผู้ต้องขังถือเป็นประชากรในพื้นที่เป็นผู้มีสิทธิในกองทุน หลังดำเนินโครงการจะมีการประเมินผลกิจกรรมและผลสัมฤทธิ์ นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของกองทุนสุขภาพตำบล และเชื่อว่าน่าจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”
ทพ.สันติ กล่าวต่อว่า เรือนจำทุกแห่งมีผู้ต้องขังเข้าออกเรือนจำ โดยในส่วนของผู้ต้องขังเข้าใหม่ ที่มีต้องขังเกิน 30 วัน ขอให้ทางเรือนจำทำเรื่องย้ายสิทธิบัตรทองให้ผู้ต้องขังมายังหน่วยบริการในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงงบกองทุนสุขภาพตำบลเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเรือนจำ