บัญชีกลางลั่น ประมูลอู่ตะเภา ไม่2มาตรฐาน
กรมบัญชีกลาง เตรียมขอข้อมูลกรณีกลุ่มซีพีได้ไปต่อจนจบกระบวนการประมูลสนามบินอู่ตะเภา ว่าตรงกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ยันไม่ 2 มาตรฐานแน่ ด้าน ซีพี ฉลุยผ่านซอง 2 อู่ตะเภา นัดเปิดซองราคา 17 ม.ค.นี้ พร้อมเปิดทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส-กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียมเข้าร่วมศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ให้บริษัทกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (CP)และพันธมิตร ได้ไปต่อจนจบกระบวนการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดรับพิจารณาเอกสารกล่อง 6 (ซอง 2) และเอกสารกล่อง 9 (ซอง 3) ซึ่งยื่นเกินเวลาไป 9 นาที ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง มาพิจารณา แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมบัญชีกลางได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำคำวินิจฉัยของศาลมาตรวจสอบโดยละเอียดในเนื้อหาและใจความว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากการวินิจฉัยของศาลได้พิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ ทั้งของคณะกรรมการคัดเลือกฯและภาคเอกชน ดังนั้นกรมจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้งว่า ตรงกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่นับเป็นระเบียบกลางหรือไม่ “กรมจะไม่ไปก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาล แต่จะเข้าไปดูว่า คำพิพากษาที่มีนั้น ในแนวทางปฏิบัติจะขัดต่อระเบียบที่มีหรือไม่ เพราะระเบียบของกรมเป็นระเบียบกลาง มีมาตรฐานเดียว ฉะนั้นไม่มีคำว่า 2 มาตรฐานแน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า หากคำวินิจฉัยของศาลไม่ตรงกับกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะจะต้องเป็นอำนาจของอธิบดี กรมบัญชีกลาง เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง”อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีพล.ร.อ. ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบให้กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (CP) และพันธมิตร ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) พร้อมกำหนดจะเปิดข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ในวันที่ 17 ม.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพเรือในวันเปิดซองราคา คณะกรรมการคัดเลือกฯจะเชิญเอกชน 2 ราย ที่เปิดซองราคาไปก่อนหน้านั้น
ทั้งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้แก่ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ซึ่งประกอบด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย)บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด เข้าร่วมการเปิดซองราคาของกลุ่มธนโฮลดิ้งด้วย
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เกมนี้เชื่อว่าจะเป็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด(CP) และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งต้องวัดกันที่ข้อเสนอซอง 3ที่กลุ่มธนโฮลดิ้งเคยยื่นเอาไว้แล้วตั้งแต่การยื่นซอง
ประมูลเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ว่าจะเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงกว่าหรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐอยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาทหรือไม่ ซึ่งสูงกว่ากลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียมราว 1 แสนล้านบาทสนามบินเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ดีในช่วงอายุสัญญา 50 ปี และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ที่ซีพีได้โครงการไปก่อนหน้านี้ เพราะเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ ที่สามารถพัฒนาได้ทันที ไม่มีปัญหาเรื่องเวนคืน หรือมีความยุ่งยากในการนำพื้นที่มาพัฒนา ซีพีจึงสู้ไม่ถอยเพื่อต่อยอดธุรกิจ ขณะที่บีทีเอส และ BA ก็ครํ่าหวอดในธุรกิจนี้ จึงมองโอกาสในการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ชนะการประมูล ทางบริษัทผู้บริหารสนามบินนาริตะ ก็จะมาบริหารสนามบินอู่ตะเภา หากกลุ่มธนโฮลดิ้งชนะประมูล ทางบริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ท) ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต จะเข้ามาเป็นผู้บริหาร