สงครามศก.จีน-สหรัฐ พ่นพิษ! โรงเลื่อยไม้ยางพาราเจ๊งระนาว-ชาวสวนยางระทม
"...ยางพารา ให้ผลผลิตคือน้ำยางพารา และให้บำนาญเป็นไม้ยางพารา ในรอบอายุการใช้งาน 25-30 ปี ซึ่งทุกวันนี้กำลังเผชิญวิกฤตหนักหนาสาหัส ราคาตกต่ำชนิด 3 โลร้อย หากเปรียบเทียบกับอาชีพการงานของคนๆหนึ่งที่เข้ารับราชการ เมื่อเกษียณอายุ ยังได้รับบำนาญ ต้นยางพาราก็เช่นกัน เมื่อหมดอายุขัยการให้น้ำยางพารา ก็ทิ้งบำนาญก้อนใหญ่ให้กับชาวสวนยางพาราได้ตัดโค่นเอาไม้ยางพาราไปขาย เพื่อตั้งตัว ตั้งทุน ใช้หนี้สิน..."
น้อยคนอาจไม่รู้ว่า ขณะนี้นอกจากสินค้าเกษตรไทยที่ได้รับผลกระทบในเรื่องกลไกราคาที่ตกต่ำจนน่าใจหายแทบทุกรายการแล้ว
โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของทางภาคใต้ อย่าง 'ยางพารา' ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ทุกภาค ทุกพื้นที่ และมิใช่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบด้านโครงสร้างราคาที่ตกต่ำ แต่หมายถึงผลกระทบทั้งระบบ ทั้งวงจร เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องจากต้นยางพาราทั้งระบบ
ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากต้นยางพาราที่หมดอายุการให้น้ำยางพาราที่ค่าเฉลี่ย 25-30 ปี กำลังเผชิญวิกฤตอย่างหนักหน่วง
ผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางพาราหลายราย ล้มหายตายจากทางธุรกิจราวใบไม้ร่วง ด้วยวิกฤติการณ์ การส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปไปประเทศจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ที่ลือกันว่าโรงเลื่อยไม้ดิบเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนใช้ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ และตลาดใหญ่ก็คือสหรัฐอเมริกา ล้วนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ต้องแบกรับภาวะขาดทุน ไม้แปรรูปล้นอยู่ในโกดัง รอการระบายออกจำนวนมหาศาล เพราะประเทศคู่ค้าอย่างจีนยกเลิกออเดอร์ ชะลอการสั่งซื้อ บ้างก็สั่งซื้อในราคาที่ถูกมาก
ภาวการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อันมีสาเหตุหลักอันเกิดจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่องยาวนาน
สถานการณ์ย่ำแย่ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้กระทบเพียงแค่โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราหรือโรงเลื่อยเท่านั้น แต่ผลพวงได้ส่งถึงอุตสาหกรรมและการจ้างงานในวงจรการแปรรูปไม้ยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง คือ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขายไม้ยางได้ในราคาที่ตกต่ำอย่างรุนแรง ภาคแรงงานที่ทำหน้าที่ตัดโค่น แบกไม้ ผู้รับเหมาตัดโค่น แรงงานภาคการผลิต ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว จนถึงผู้แปรรูปเพื่อส่งออก ฯลฯ
นายนิกร ลิขิตหวังพาณิชย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย และกรรมการบริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด “ชูศักดิ์ภาคใต้พาราวู้ด” กล่าวว่า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงไม้ยางพาราหยุดกิจการลงจาก 100% เหลือเพียง 60% และลดกำลังการผลิตลงเหลือน้อยกว่า 60%ต่อโรงงานเท่านั้น รวมทั้งมีการเลิกงานถึง 50% ซึ่งเป็นกระทบต่อเนื่องรุนแรงมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีมาแล้ว ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราต้องแบกภาวะขาดทุนมากอย่างต่อเนื่อง จนหลายโรงงานจำเป็นต้องหยุดการผลิต และบางรายต้องปิดกิจการลง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้ภาวการณ์ส่งออกไม้ยางพาราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
“ตอนนี้สหรัฐอเมริกาเพิ่มภาษีส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากจีนเป็น 200% ส่งผลให้การส่งออกของจีนหยุดชะงัก และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ในประเทศจีนปิดตัวลง แม้จีนจะมีความต้องใช้ไม้ยางพาราจากประเทศไทย เพราะไม้ยางพาราจากประเทศไทยเป็นไม้คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ แต่กลับต้องการซื้อในราคาถูก"
"ขณะเดียวเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จาก 300 บาท เป็น 306 บาท ซึ่งกระทบกับผู้ประกอบการอีกระลอก เพราะโรงงานไม้ยางพาราใช้แรงงานคน 100% ในขณะที่จีนต้องการซื้อไม้ในราคาที่ถูกลง แต่ผู้ประกอบการกลับต้องแบกรับต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิต และราคาไม้ยางพาราของไทยราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จีนจึงหันไปนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศเวียดนาม และ ประเทศมาเลเซียแทน” นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยระบุ
นายนิกร บอกอีกว่า เมื่อการส่งออกไม้พาราชะลอตัว ผู้ประกอบการโรงงานหันหน้าหวังพึ่งสถาบันการเงิน ก็ทำได้ยากกว่าเดิม เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้ ความเชื่อมั่นที่สถาบันการเงินมีให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราลดลง
“บางสถาบันการเงินถึงขั้นปิดประตูตาย ตัดญาติขาดมิตรไม่ปล่อยเงินกู้ให้เลย ซึ่งจริงๆแล้วสถาบันการเงินไม่น่าจะทำอย่างนั้น ควรประคับประคองผู้ประกอบการ ทั้งที่จริงผู้ประกอบเป็นผู้สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้กับชาวสวนยางพารา และเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด สวนยางพาราเมื่ออายุครบ ถึงเวลาโค่น จะทำได้อย่างไรถ้าไม่มีโรงงานไม้ยางพารารองรับ ไม้เองมีความต้องการใช้ ไม่ว่าไม้จะถูกจะแพง”นายนิกรกล่าว
วิกฤตซึ่งกระทบต่อวงจรการแปรรูปไม้ยางพาราที่เกิดขึ้นนี้ หลายๆฝ่ายยังไม่รู้และมองข้าม ด้วยความเชื่อที่ว่าเจ้าของโรงเลื่อยไม้ยางพาราเป็นคนรวย ภาครัฐเองก็มองด้วยตรรกะว่าเป็นวงจรเชิงอุตสาหกรรม จึงทำให้ยังไม่มีหน่วยงานใด เข้าแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีและจริงจัง ทำให้ธุรกิจแปรรูปไม้ยางพารา ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงาน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และที่สำคัญล้วนเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับภาวะถดถอยด้านการส่งออก ตลอดจนการจับจ่ายใช้สอยเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภาพรวมจากลูกจ้างในภาคการผลิตนี้
ภาวการณ์นี้ไม่ได้กระทบแค่ผู้ประกอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราโดยตรงอีกด้วย ปกติในปีหนึ่งๆ จะมีการโค่นยาง 500,000 ไร่ ราคาขายไม้ยางโดยเฉลี่ยช่วงก่อนเกิดวิกฤติดังกล่าวอยู่ที่ 70,000-100,000 บาท/ไร่ คิดเป็นเงินรวม 35– 50ล้านบาท แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงไร่ละ 30,000-40,000 บาท/ไร่ เท่านั้น เมื่อเกษตรกรรายได้ลดลง การใช้จ่ายลดลง เศรษฐกิจในชุมชน และในจังหวัดก็ซบเซาเช่นกัน
แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีการส่งเสริมตลาดใหม่ เช่นตลาดอินเดีย อีกทั้งการยางแห่งประเทศไทย(กนท.) มีการส่งเสริมการปลูกป่าอย่างยั่งยืน หรือ FSC (Forest Stewardship Council) แต่ก็ยังน้อยมาก ซึ่งหากทำได้มากกว่านี้ เราจะสามารถขายไม้ยางพาราไปยังประเทศยุโรปและอเมริกาได้ในอนาคต
ผู้รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับวงการแปรรูปไม้ยางพารา ได้เคยเสนอแนวทางที่จะทำให้ราคาไม้ยางพารามีราคาที่ดีขึ้น โดย รัฐบาลจะต้องส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อนำเศษไม้ยางพารา อาทิ ไม้ฟืน ปีกไม้ กิ่งไม้ ปลายไม้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงไปใช้ ตลอดทั้งรัฐต้องส่งเสริมให้กรุงเทพ และ ปริมณฑล ใช้ไบโอแมส และ ชีวมวล เหมือนกับประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา หากทำได้จะทำให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,000-20,000 บาท/ไร่
นอกจากนี้ยังรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยพัฒนาเครื่องจักร เพื่อใช้ในโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราอีกด้วย
ด้าน นายสมจิตร คงฉาง ผู้ประกอบการลานไม้ “ บ้านฉางพาราวู้ด” ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ปัจจุบันมีไม้ยางพาราค้างอยู่ในลานรับซื้อไม้ประมาณ 80-100 ตัน ซึ่งไม่สามารถระบายออกได้ ที่ยังพอขายได้ มีเงินเข้ามาในกิจการได้ มีแค่ไม้ฟืน ปลายไม้
ทั้งนี้ราคาไม้ในปัจจุบันขึ้นๆลงๆ โดยปัจจุบันราคารับซื้อไม้ยาพาราหน้าลาน อยู่ที่ 1.60-1.65 บาท ต่อกิโลกรัม และ ไม้ฟืน ปลายไม้ รับซื้อ 0.8-0.85 บาท ทำให้รับซื้อลำบาก หน้าลานจึงต้องหยุดรับซื้อจากลูกค้าทั่วไป หันมารับซื้อไม้จากลูกค้าประจำเท่านั้น
ในขณะที่อัตราการจ้างงานลดลง จากเดิมคนงานแบกไม้ คนรับจ้างทำงานในแปลงไม้ยาง และ แรงงานแบกหามมีรายได้ลดลง จาก วันละ 500 บาท ปัจจุบันเหลือรายได้เพียง 200 บาท เท่านั้น ซึ่งล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน และ ปากท้องของครอบครัวผู้ใช้แรงงาน
เช่นเดียวกับ นายปรีชา เอียดศรี ผู้ดำรงอาชีพรับเหมาตัดโค่นต้นยางพาราในแปลงที่ดินของเกษตรกร เพื่อขายไม้ท่อนต่อให้โรงเลื่อยไม้ยางพารา ก็ครวญเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้ตกภาวะลำบาก และขาดทุน
"เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา ผมได้ซื้อทำสัญญาซื้อขายไม้จากชาวสวนยางพารา พร้อมวางเงินมัดจำ ในราคาซื้อขายล่วงหน้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.60 บาท ในขณะเดียวราคารับซื้อหน้าลานอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.60 บาท และ ณ วันที่ตัดโค่น ราคาที่ลานหรือโรงเลื่อนรับซื้อต่ำกว่าราคาที่ตนซื้อล่วงหน้า แม้จะเห็นปลายทางว่าการโค่นล้มไม้ยางพาราที่วางมัดจำไว้ จะขาดทุน 0.35 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้องจำใจโค่นเพราะดีกว่าโดนยึดมัดจำ"
“มันก็ต้องจำใจทำไป ไม่นั้นโดนยึดมัดจำ อย่างน้อยก็พอได้ขายปลายไม้ ไม้ฟืน พอเป็นค่าแรงคนงาน หรือ ค่าขนส่งได้บ้าง 0.35 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการขาดทุนค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าแรงคนงาน ค่าขนส่ง ค่าเสื่อมของรถและเครื่องมือ เป็นต้น ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ตอนนี้โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา และ ลานรับซื้อไม้หลายแห่ง ได้หยุดรับซื้อไม้ยางพารา และหยุดเลื่อย ซึ่งหลังจากนี้คนรับซื้อไม้ยาง โค่นยาง อย่างผมก็ต้องเผชิญชะตากรรมเรื่องราคาที่ มีแต่จะดิ่งลงๆ”นายปรีชากล่าว
นายปรีชากล่าวว่า แต่อย่างไรเสีย ไม่ว่าราคาไม่อย่างพาราจะราคาลดลงแค่ไหน เมื่อถึงวันที่เหมาะสมเกษตรกรต้องตัดสินใจขายต้นยางพารา ส่วนหนึ่งเพราะยางพาราที่มีอายุครบให้ผลผลิตจะให้ผลิตน้อย และ การเก็บเกี่ยวยากลำบากกว่ายางพาราขนาดปกติ บ้างเกษตรกรบางคนต้องจำใจขายไม้ยางพาราในราคาที่ต่ำ เพราะต้องการเงินก้อนมาชำระหนี้ ถึงแม้จะขายได้เงินไม่มากนัก
ในขณะที่คนรับเหมาโค่นล้มไม้บางราย ยอมขายอุปกรณ์ทำมาหากินบางส่วน เพื่อพยุงกิจการ และลดขนาดงานให้เล็กลง เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว เพราะมองเห็นว่าหากฟืนทำต่อไปในสถานการณ์ที่มีแต่แย่ลง ก็รังแต่จะพาตัวไม่รอด เพราะแค่ห่วงเวลาครึ่งปีของภาวะราคาไม้ถดถอย ก็มีภาระหนี้ฟอกพูน เพราะตกในภาวะขาดทุนนั่นเอง
ด้าน นายเจริญ นางแก้ว อายุ 56 ปี ผู้ยึดอาชีพรับซื้อไม้ยางพารา และรับเหมาแรงงานโค่นล้มยางพารา ต้องหยุดอาชีพนี้ลงเมื่อไม่นานมานี้ สาเหตุหลัก มาจากราคาลดลงแบบคาดเดาไม่ได้ จนการทำไม้ในแต่ละแปลงแทนที่จะได้กำไรกลับขาดทุน ขาดทุนจนต้องเป็นหนี้เป็นสิน อีกส่วนหนึ่งเครื่องมือเครื่องไม้เมื่อใช้งานหนัก จำเป็นต้องซ่อมบำรุงอยู่บ่อยครั้ง
“ยิ่งทำ ยิ่งขาดทุน ยิ่งเป็นหนี้ ผมจึงต้องขายเครื่องไม้เครื่องมือทิ้งบางส่วนเพื่อลดขนาดงานลง ลูกน้องแบกไม้ ตัดไม้ ขับรถ ที่มีอยู่ร่วม 10 คน ก็ถึงคราวแยกย้ายไปทำงานอย่างอื่น เพราะไม่มีงานให้ทำทุกวันนี้ ผมเลี้ยงครอบครัวด้วยการรับซื้อ รับตัดโค่นไม้เล็กๆน้อยๆ เช่น ไม้ยางพาราที่โค่นล้มเพราะโดนพายุ ยืนต้นตาย รับจ้างเลื่อยผสมไม้เบญจพรรณจากชาวบ้านเท่านั้น”นายเจริญระบุ
ทั้งนี้ ยางพารา ให้ผลผลิตคือน้ำยางพารา และให้บำนาญเป็นไม้ยางพารา ในรอบอายุการใช้งาน 25-30 ปี ซึ่งทุกวันนี้กำลังเผชิญวิกฤตหนักหนาสาหัส ราคาตกต่ำชนิด 3 โลร้อย หากเปรียบเทียบกับอาชีพการงานของคนๆหนึ่งที่เข้ารับราชการ เมื่อเกษียณอายุ ยังได้รับบำนาญ ต้นยางพาราก็เช่นกัน เมื่อหมดอายุขัยการให้น้ำยางพารา ก็ทิ้งบำนาญก้อนใหญ่ให้กับชาวสวนยางพาราได้ตัดโค่นเอาไม้ยางพาราไปขาย เพื่อตั้งตัว ตั้งทุน ใช้หนี้สิน
แต่วันนี้ทั้งหมด ทั้งวงจรกำลังจะพังทลาย เป็นผลพวงวิกฤติให้กับสินค้าเกษตรชนิดนี้ที่ยังหยั่งลึกไปจนถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก การจ้างงาน ไปจนถึงเศรษฐกิจชุมชน ระดับครัวเรือน ในเรื่องปากท้องของชาวสวนยางทุกคน ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก
ภาพปัญหาอันพร่ามัวนี้ จะมีใครมองเห็น หรือได้ยินเสียงคร่ำครวญนี้หรือบ้างไม่?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/