คลอดประกาศความรับผิดทางละเมิดของ จนท. ที่ไม่ต้องรายงาน ก.คลัง ตรวจสอบ
ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศ ก.คลัง ความรับผิดทางละเมิดของ จนท. ที่ไม่ต้องรายงานให้ ก.คลังตรวจสอบหน่วยงานรัฐเสียหายครั้งละไม่เกิน 1 ล้าน กรณีถ้าเกินมีเงื่อนไข 3 ข้อ ทั้งทุจริต-ไม่ทุจริต รวมทั้ง ครม. มีมติไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 ม.ค.2563 เผยแพร่ ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบพ.ศ. 2562
ความว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเชิงบูรณาการในการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้ในการบริหารงาน และเพื่อให้การพิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเสร็จสิ้นไปโดยเร็วยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 17 วรรคสอง แห่งระเบียบสานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กระทรวงการคลังจึงประกาศกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ. 2562”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2552
ข้อ 4 ในประกาศนี้
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ
หรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ข้อ 5 ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐไม่ต้องรายงาน
ให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ
5.1 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ครั้งละไม่เกิน 1,000,000 บาท
5.2 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ครั้งละเกินกว่า 1,000,000 บาท สำหรับความเสียหายประเภท
5.2.1 ความเสียหายจากสาเหตุทั่วไปที่มิได้มีสาเหตุจากการทุจริต เงินขาดบัญชีหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีหรือข้อบังคับต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุ เพลิงไหม้ ทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย เป็นต้น และหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้ต้องรับผิด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ร้อยละ 75 ของความเสียหายทั้งหมด
5.2.2 ความเสียหายที่มีสาเหตุจากการทุจริตและหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้เต็มจำนวนความเสียหายและพิจารณาให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นโอกาสหรือช่องทางให้เกิดการทุจริตชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหาย
5.2.3 ความเสียหายที่มิได้เกิดจากการทุจริต แต่มีสาเหตุจากเงินขาดบัญชีหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีหรือข้อบังคับต่าง ๆ และหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหาย
5.3 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ
ข้อ 6 ความเสียหายที่หน่วยงานของรัฐไม่ต้องส่งสำนวนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ ตามข้อ 5 ให้หน่วยงานของรัฐรายงานความเสียหายในระบบความรับผิดทางละเมิดและแพ่งตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางได้แจ้งเวียนให้ถือปฏิบัติ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแนวทางและหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ที่ http://tcls.cgd.go.th
ประกาศ ณ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562
จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล
รองปลัดกระทรวงการคลัง
หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน
(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/010/T_0003.PDF)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/