รมช.กษ.จ่อส่งประกาศคุมเข้มสารเคมีเกษตรให้ กก.วัตถุอันตราย
"มนัญญา"เตรียมส่งร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯเสนอกก.วัตถุอันตราย หวังคุมเข้มการผลิตสารเคมีเกษตรเบ็ดเสร็จ ตัดตอนบริษัทปัดความรับผิดชอบปล่อยสารพิษหมดอายุว่อนตลาด
เว็บไซต์ www.dailynews.co.th รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ..จะสามารถเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อรับทราบได้ภายในสัปดาห์นี้เนื่องจากร่างได้มีการตรวจสอบครบขั้นตอนทั้งหมดแล้ว
"ขณะนี้หนังสือที่ทวงถามต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานตามมติที่ดิฉันถามไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีการตอบกลับมา ฉะนั้นทางกระทรวงเกษตรฯก็จะดำเนินการจำกัดการใช้สารเคมีตามมติกก.วัตถุอันตราย เมื่อ27พ.ย.2562 โดยอาศัยกฏหมายของกรมวิชาการเกษตรที่มีเพื่อควบคุมการผลิตสารเคมีเกษตรให้ได้คุณภาพและบริษัทที่นำเข้า ผลิต จำหน่าย จะต้องผิดชอบในทุกขั้นตอน ไม่ใช้เหมือนที่ผ่านมาขายแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบ สารเคมีหมดอายุก็ไม่ต้องนำออกจากตลาด เรื่องแบบนี้ต่อไปต้องไม่มีอีก ร่างประกาศนี้จะดูแลทั้งหมด" น.ส.มนัญญากล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ในเรื่องสารเคมีเกษตร เป็นเรื่องที่ตั้งใจทำ และต่อสู้กันมากับนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีดอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพราะเห็นปัญหาของประเทศ เห็นว่าสารเคมีอันตรายหากไม่สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และปล่อยให้มีการผลิตโดยไร้การควบคุมระบบ จึงมีโรงงานห้องแถว โรงงานผลิตสารเคมีที่ไม่มาตรฐานและเมื่อสารเคมีหมดอายุก็ไม่มีการจัดเก็บออกจากตลาด ซึ่งรมว.เกษตรและสหกรณ์จะลงนามส่งหนังสือหรือไม่ หรือมิเช่นนั้นอาจให้ตนลงนามเองในฐานะกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร
สำหรับสาระสำคัญของประกาศกระทรวงเกษตรฯคือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องได้การรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน
โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว จะให้เวลาปรับปรุงแก้ไข 2 ปี อาคารผลิตและเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่มากกว่าสองชั้นขึ้นไปต้องมีบันไดหนีไฟ ผนังต้องใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดการลุกลามของ พื้นอาคารต้องไม่มีคุณสมบัติดูดซับวัตถุอันตราย สามารถป้องกันการรั่วไหลของวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการระบายอากาศที่เหมาะสม ต้องแบ่งแยกพื้นที่ผลิตและเก็บวัตถุอันตรายแต่ละประเภทเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการปะปนกัน มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่บ่อพักเพื่อนำไปบำบัด
สำหรับการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงานนั้น กำหนดให้ต้องมีเสื้อผ้าชุดปฏิบัติงาน ถุงมือ รองเท้า หมวก หน้ากากป้องกันพิษ ตรวจสุขภาพผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการมีวัตถุอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่มีสารประกอบในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสหรือคาร์บาเมตต้องตรวจหาระดับซีรัมโคลีนเอสเตอเรสด้วย พร้อมจัดทำทะเบียนประวัติสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและหากตรวจพบวัตถุอันตรายสะสมในร่างกายจนถึงระดับอันตราย ต้องจัดให้ผู้นั้นได้รับการรักษาหรือไปปฏิบัติงานอื่นตามความเหมาะสม
น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า กฎหมายใหม่นี้ยังกำหนดให้ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย โดยการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ อัตราส่วนความเข้มข้นของสารสำคัญให้ถูกต้องก่อนบรรจุภาชนะ ตรวจสอบฉลากที่จะปิดบนภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ผู้ผลิตวัตถุอันตรายจำกัดการใช้ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ทราบภายในวันถัดจากวันที่มีการผลิตประกอบด้วย กระบวนการการตั้งแต่เริ่มนำสารชนิดเข้มข้นมาแปรรูปโดยใช้ส่วนผสมต่างๆ เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นสารพร้อมใช้ แจ้งชนิดของส่วนผสม รายงานเกี่ยวกับภาชนะบรรจุที่ใช้แล้วซึ่งมีอยู่ในความครอบครอง การส่งไปทำลาย สถานที่ทำลายและวิธีการทำลาย โดยจะต้องส่งรายงานดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเดือนม.ค.ทุกปี
ในกรณีที่หากสอบสวนพบว่า เกิดข้อบกพร่องที่มีผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือเกิดอันตรายต่อ ผู้บริโภคต้องเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคืนอย่างรวดเร็ว มีบันทึกการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์คืนจากลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนให้แยกเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืนไว้ในบริเวณเฉพาะที่ปลอดภัย.