ดูความคืบหน้า สร้างศูนย์ราชการก.มหาดไทย ถ.เจริญนคร อยู่ระหว่างออกแบบฐานราก -ทำ EIA
กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกแบบอาคารศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติ โดยรูปแบบอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ มีชั้นใต้ดิน 3 ชั้น อาคารส่วนฐาน สูง 5 ชั้น และตั้งแต่ 6 ชั้นขึ้นไป เป็นส่วนอาคารที่ทำการ 6 อาคาร สำหรับ 6 กรม
- ที่ราชพัสดุ บริเวณถนนเจริญนคร อยู่ห่างจากพื้นที่ตั้งกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน แค่ 5 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปยังรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล หรือส่วนราชการต่างๆ ได้โดยง่าย
- มีขนาดที่ดินเหมาะสมสำหรับการก่อสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการในสังกัด
- ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้อาคารศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย มีความสง่างาท มีทัศนียภาพที่สวยงาม
- มีความสะดวกสบายในการเดินทาง มีระบบขนส่งหลายรูปแบบ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานรีกรุงธนบุรี อยู่ห่างจากพื้นที่โครงการประมาณ 1 กิโลเมตร รถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีธนบุรี อยู่ห่างจากพื้นที่โครงการประมาณ 1 กิโลเมตร และสถานีเจริญนคร อยู่ห่างจากพื้นที่โครงการประมาณ 1.5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีรถประจำทาง เรือโดยสาร ซึ่งจะมีการออกแบบท่าเรือสาธารณะ สำหรับรองรับการเดินทาง
นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าการก่อสร้าง พร้อมกับย้อนถึงเหตุและผลในการเลือกที่ราชพัสดุบนถนนเจริญนคร เป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย รองรับข้าราชการกว่า 7,600 คน และผู้มาติดต่อราชการ
รองปลัดมหาดไทย เล่าว่า เดิมกระทรวงฯ พิจารณาเลือกสถานที่ก่อสร้างไว้หลายแห่ง เคยพิจารณาที่ดินแปลงมีนบุรี แต่เนื่องจากต้องย้ายชุมชนกว่าร้อยหลังคาเรือน และโรงเรียนเอกชน 1 แห่ง จึงต้องยกเลิกไป รวมถึงที่ของกรมชลประทานด้วย
การเลือกที่ราชพัสดุหมายเลขทะเบียน กท.1989 ถนนเจริญนคร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน เนื้อที่รวมประมาณ 23 ไร่เศษ อยู่ในการครอบครองของกรมธนารักษ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้ว่า เป็นที่ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ จึงขอใช้พื้นที่ ประมาณ 18 ไร่เศษ เป็นที่ว่างเปล่าจริงๆ บางส่วนกรมธนารักษ์ให้ประชาชนเช่า
"เราไม่ได้ไปยุ่ง เอาเฉพาะแปลงที่ว่างจริงๆ"
สำหรับขั้นตอนการขออนุญาต มีกฎกระทรวง ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556 กำหนดให้พื้นที่ก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ดินประเภท ย.8 โดยเป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ที่มีการส่งเสริมและดำรงรักษาทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมทางธรรมชติ โดยมีข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการบางประเภท ซึ่งรวมถึงสำนักงานที่มีพื้นที่ประกอบการเกิน 1,000 ตารางเมตร (ข้อ 15 (2))
กรณีการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย จึงเข้าข่ายการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการของรัฐ มิใช่การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสำนักงานโดยทั่วไปตามนัย ข้อ 15 (12) ของกฎกระทรวงดังกล่าว
“ตามกฎกระทรวงการให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556 พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินประเภท ย.8 เรากำลังทำเรื่องขอกทม.ขอเปลี่ยนเฉดสี จากเดิมประเภท ย.8 มาเป็นที่ดินประเภท ส. (ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ สีน้ำเงิน)” นายพรพจน์ ระบุถึงขั้นตอนที่ต้องทำตามข้อกฎหมายให้ถูกต้อง รวมไปถึงขออนุญาตทำท่าเรือสาธารณะ กับกรมเจ้าท่าด้วย
นอกจากนี้ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารบางชนิด หรือบางประเภท ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งฯ พ.ศ.2542 ข้อ 4 กำหนดให้พื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในระยะ 45 เมตร ห้ามก่อสร้างอาคารอื่นใด เว้นแต่
1.ภายในระยะ 3 เมตร ให้ก่อสร้างเขื่อน อุโมงค์ สะพาน ทางหรือท่อระบายน้ำ รั้ว กำแพง หรือประตู
2.ภายในระยะเกิน 3 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 เมตร ให้ก่อสร้างอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 8 เมตร ซึ่งมิใช่ห้องแถว หรือตึกแถว
3.ภายในระยะเกิน 15 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 เมตร ให้ก่อสร้างอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 16 เมตร
โมเดลกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกแบบอาคารศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติดังกล่าว โดยรูปแบบอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ มีชั้นใต้ดิน 3 ชั้น อาคารส่วนฐาน (Podium) สูง 5 ชั้น และตั้งแต่ 6 ชั้นขึ้นไป เป็นส่วนอาคารที่ทำการ 6 อาคาร สำหรับ 6 กรม ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน และกรมที่ดิน
ส่วนความคืบหน้า ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินและกรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการสำรวจและรังวัดสอบเขตที่ดินไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย หาผู้ว่าจ้างเจาะสำรวจดิน เพื่อให้กรมโยธาและผังเมืองนำไปออกแบบฐานรากของอาคาร โดยประกาศให้บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงิน 416,230 บาท โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ดำเนินการตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ความยาวเสาเข็มที่ใช้ก่อสร้าง 65 เมตร
บริษัทที่ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้ บริษัท มาสเตอร์ ฟอร์ กรีน จำกัด เป็นผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงิน 4.9 ล้านบาท ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน EIA โดยมีระยะเวลาทำ EIA 6 เดือน
ในส่วนของกรอบวงเงินงบประมาณการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย มีวงเงินทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท 4 ปีงบประมาณ 2563-2566
- ปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 1.2 พันล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 1.5 พันล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 1.5 พันล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 1.8 พันล้านบาท
รองปลัดมหาดไทย ระบุด้วยว่า ตั้งแต่ตั้งกระทรวงมหาดไทยมา นี่จะเป็นครั้งแรกที่ส่วนราชการมหาดไทยจะมาอยู่รวมกัน 5 กรม กับอีก 1 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสิทธิภาพการประสานส่วนราชการในสังกัด ไม่รวมกรมโยธาธิการและผังเมือง
"ที่ตั้งเดิมของกระทรวงมหาดไทย บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จะมีการปรับปรุงทำให้ส่วนราชการหลายแห่ง มีการโยกย้ายออกไปแล้ว ของกระทรวงมหาดไทยเองก็มีพื้นที่คับแคบ แออัด ไม่สะดวกทั้งในส่วนของข้าราชการเอง และประชาชนที่มาติดต่อราชการ โดยเฉพาะพื้นที่จอดรถ อีกทั้ง ที่ตั้งเดิมของกระทรวงมหาดไทย มีตึกสูง 8 ชั้น ด้านหลังสถาบันดำรงราชานุภาพ ก็จะออกรื้อหมด เพราะบดบังพระอารามหลวงชั้นเอก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร บริเวณด้านข้าง นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราต้องปรับปรุงที่ตั้งใหม่ ซึ่งตั้งมา 128 ปี และขยับขยาย ย้ายออกไป
ส่วนกรณีบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ทางกระทรวงมหาดไทยจะไปสร้างนั้น เราไม่มีหน้าที่ไปขับไล่ชาวบ้าน เป็นหน้าที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการปัญหาการจราจรระหว่างการก่อสร้าง ด้วยความกว้างของถนน มีความกว้าง 30 เมตร หรือ 4 เลน ยอมรับว่า อาจมีการติดขัดบ้าง ซึ่งก็จะมีการเน้นย้ำ การก่อสร้างช่วงเวลาเร่งด่วน หรือการขนส่งให้เน้นเวลากลางคืน เป็นต้น"
สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่แปลง กท.1989 ถนนเจริญนคร ซึ่งจะมีการสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ พบว่า มีทั้งหมด 2 แปลง ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดเนื้อที่ 18 ไร่เศษ ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดที่ดินธรณีสงฆ์วัดเศวตฉัตร โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าว ประกอบไปด้วยวัดเศวตฉัตรวรวิหาร โรงเรียนวัดเศวตฉัตร และชุมชุมวัดเศวตซอย 23
พื้นที่บริเวณดังกล่าวเดิมองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้มาเช่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว และเป็นท่าอู่เรือเก่า ปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์
โดยในพื้นที่ราชพัสดุแห่งนี้ มีบ้านพักอาศัยบริเวณอู่เรือเก่าติดแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 9-10 ครัวเรือน
ขณะที่แปลงเล็กฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีถนนเจริญนครกั้นกลางนั้น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า สำหรับสร้างบ้านพักสวัสดิการข้าราชการต่อไป
จากการได้พูดคุยกับ พระมหาพิษณุ สญฺญเมโธ เลขานุการเจ้าอาวาสวัดเศวตฉัตรวรวิหาร มองถึงการจัดสร้างกระทรวงมหาดไทยพื้นที่ติดกับวัดว่า ทางวัดไม่ได้ติดขัดอะไร เพราะก่อนหน้านี้ก็มีอาคารต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม ตึกสูงก็มาสร้างขึ้นจำนวนมาก แต่อยากให้ทุกฝ่ายตระหนัก และเข้าใจว่า วัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านแถวนี้มานาน เป็นสถานที่สงบ และวัดก็มีอายุมาหลายร้อยปี ถ้าจะมาสร้างต้องคำนึงถึงผลกระทบหลักๆ นั่นก็คือ เสียงที่รบกวนขณะก่อสร้าง หรือแม้แต่ฝุ่นควันที่ฟุ้งกระจายมายังบริเวณวัด ระยะเวลาก่อสร้าง 3-4 ปี ก็อยากฝากถึงภาครัฐให้ช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้ให้ด้วย
ด้านนายนิรัตน์ เล็กสราวุธ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเศวตฉัตร ยอมรับว่า การก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ต้องมีผลกระทบแน่นอน ทั้งปัญหาการจราจร ซึ่งปัจจุบันการจราจรละแวกนี้ก็ติดชัดมากอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีชุมชน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เมื่อมีการสร้างกระทรวงมหาดไทย แน่นอนว่าความแออัดของผู้คน จำนวนรถที่เพิ่มขึ้น ย่อมมีมากกว่าเดิม
"ไหนจะมีคนใหญ่คนโตมาอีก ซึ่งปัญญารถติดจะเพิ่มขึ้นอย่างหนัก หลีกเลี่ยงไม่ได้” ผอ.โรงเรียนวัดเศวตฉัตร มองถึงปัญหาที่จะตามมา ก่อนเน้นย้ำปัญหาฝุ่นขณะการก่อสร้าง ที่จะปลิวลอยเข้ามาในโรงเรียน อยากให้คำนึงถึงตรงนี้เป็นพิเศษ เพราะโรงเรียนมีเด็กเล็กจำนวนมาก ถ้าสร้างก็อยากให้มีการวัดค่าฝุ่นต่างๆ เหมือนกับคอนโดฯ ที่ก่อสร้างขึ้นข้างๆ มีการทำประเมิน EIA และติดตามปัญหาอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงปัญหาเสียงรบกวน เพราะกระทรวงมหาดไทยที่สร้างนั้นห่างกับโรงเรียน ประมาณ 10 เมตร เท่านั้น อยากให้มีการควบคุมเสียงในการก่อสร้าง หรือก็มีตัววัดค่าเสียง กำหนดค่าเสียงที่เหมาะสมที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโรงเรียนหรือส่วนรวม เราก็ต้องพึ่งพากัน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
นายนิรัตน์ ยังมองถึงอนาคตหากศูนย์ราชการแห่งนี้สร้างเสร็จ จำนวนนักเรียนอาจมากขึ้น ลูกหลานของข้าราชการหรือผู้คนที่เข้ามาอาศัยอยู่จะมีจำนวนมากขึ้น ก็อยากให้ทางภาครัฐเข้ามาดูแลในส่วนนี้ เพราะปัจจุบันขนาดโรงเรียนเราไม่ใหญ่มาก รองรับเด็กได้จำนวนจำกัด
ทางด้านนายพิพัทธ์ เจริญมาก ประธานชุมชนอู่ใหญ่ บอกว่า ทางคณะกรรมการชุมชนได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบอยู่ตลอดว่าจะมีการจัดสร้างกระทรวงมหาดไทย ในบริเวณดังกล่าว เพื่อที่จะไม่ให้ชาวตื่นตระหนก แต่ก็จะมีชาวบ้านบางส่วนที่กลัวว่าจะมีการเวนคืนพื้นที่หรือไม่ เพราะว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยในที่ราชพัสดุ และกลัวว่าจะโดนขับไล่ออกจากพื้นที่ ทางคณะกรรมการจึงได้ไปร่วมประชุมกับทางกระทรวงและพบว่าจะไม่มีการเวนคืนใดๆทั้งสิ้น แต่อนาคตก็ยังไม่แน่ใจ
ส่วนผลกระทบที่ชาวบ้านแสดงความเป็นห่วง ซึ่งก็ไม่ต่างจากวัดและโรงเรียน นั่นก็คือ ผลกระทบด้านเสียง และและมลภาวะที่จะเกิดขึ้นช่วงการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการจราจรที่จะติดขัด พร้อมอยากให้ภาครัฐมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้เพิ่มเติมด้วย เพราะปัญหานี้ จะเกิดขึ้นแน่นอน
นางจิราภรณ์ ขจรพจน์ ชาวบ้านบริเวณพื้นที่ซอย 23 ซึ่งมีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่สร้างกระทรวงมหาดไทย ระหว่างการก่อสร้าง เธอยากให้มีการสร้างกำแพงสูงกั้นระหว่างการจัดสร้าง โดยต้องสูงและได้มาตรฐานด้วย เพื่อความปลอดภัยหลายๆด้าน หรือไม่ก็ต้องหาวิธีที่ดีที่สุด มาคุยกันว่าจะช่วยและแก้ไขให้ชาวบ้านอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ
“สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือช่วงก่อสร้าง เพราะผู้คนที่มารับจ้างก่อสร้าง เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร และมาจากไหน เสี่ยงที่อาจจะเกิดอาชญากรรมได้ อีกทั้งเด็กๆ แถวนี้มีจำนวนเยอะ อันตรายอยู่ใกล้ตัว เห็นได้จากกรณีตัวอย่างที่เคยเป็นข่าว ก็อยากให้ช่วยป้องกันตรงนี้ด้วย”
นายลชต ปานนิวัฒน์ ชาวบ้านในพื้นที่ซอย 25 บอกว่า ไม่ขัดข้องหากจะมีการสร้างกระทรวงมหาดไทยบริเวณนี้ แต่ก็อยากให้ราชการคำนึงถึงความเหมาะสมของผลกระทบทั้งทางเสียง ทางจราจร ทางฝุ่น ที่อาจจะส่งผลถึงชาวบ้านโดยตรง เพราะชุมชนตรงนี้อยู่ห่างกับที่ก่อสร้างเพียงแค่ 10 เมตร มีเพียงคลองกั้น อยากให้ช่วยจัดการและดูแลให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะการลงพื้นที่มาสำรวจ หรือการกั้นกำแพง การแก้ไขปัญหาต่างๆ
นางวราภรณ์ ทองสิงห์ ซึ่งมีบ้านพักติดถนนเจริญนคร เป็นอีกเสียงสะท้อนที่ห่วงปัญหาการจราจร ทั้งระหว่างการก่อสร้าง และเมื่อกระทรวงสร้างเสร็จแล้ว
สุดท้ายนายใหญ่ ชุดบุญธรรม ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่กรมธนารักษ์ และเป็นพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้าง บอกว่า ได้อาศัยอยู่พื้นที่นี้มา 60 ปีแล้ว แต่เดิมเป็นอู่เรือเก่าที่ถูกทิ้งร้าง อาศัยอยู่กันหลายครัวเรือนใช้บ้านเลขที่เดียว ซึ่งทั้งหมดก็เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ล่าสุด กรมธนารักษ์แจ้งให้ย้ายออกไปจากพื้นที่ เอาหนังสือมาติดประกาศหลายครั้ง บอกเป็นผู้บุกรุก “ผมก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน เพราะอาศัยอยู่ที่นี่มานาน ประกอบกับครอบครัวมีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำอาชีพหลักๆ ขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยว รายได้วันละ 300 บาท จึงไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนจริงๆ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘บิ๊กป๊อก’เอาแน่ย้าย ก.มหาดไทยไปคลองสาน ที่ราชพัสดุ18 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จปี 66
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/281/T_0026.PDF
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/