ชาวอิหร่านประท้วงไล่ผู้นำ เพื่อรับผิดชอบเหตุยิงเครื่องบินยูเครนตก
ชาวอิหร่านออกมาประท้วงให้อยาตุลเลาะห์คาเมเนอีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกับการยิงเครื่องบินยูเครนตก 'โดยไม่ได้ตั้งใจ'
เว็บไซต์ www.voicetv.co.th รายงานว่า ชาวอิหร่านประมาณ 1,000 คนออกมาประท้วงรัฐบาลอิหร่าน หลังทางการอิหร่านออกมายอมรับว่ากองทัพอิหร่านได้ยิงเครื่องบินพาณิชย์ของยูเครนตก ซึ่งฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านกล่าวว่าเป็น "ความผิดพลาดระดับหายนะ" ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 176 ราย เป็นชาวอิหร่าน 82 ราย แคนาดา 57 ราย ยูเครน 11 ราย และอังกฤษ 3 ราย
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอิหร่านออกแถลงการณ์ผ่านสำนักข่าวทางการของรัฐว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. กองทัพอิหร่านได้ยิงสายการบินนานาชาติยูเครน เที่ยวบิน 752 ตก ซึ่งถือเป็น "ความผิดพลาดที่ไม่อาจให้อภัยได้" โดยแถลงการณ์นี้ออกมาเพียง 3 วันหลังจากที่ทาการอิหร่านออกมาปฏิเสธว่ารายงานของหน่วยข่าวกรองตะวันตกไม่เป็นความจริง
รัฐบาลอิหร่านกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ไม่ว่าจะเป็นการสังหารพลตรีกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชากองกำลังกุดส์โดยสหรัฐฯ การปะทะทางทหารกับสหรัฐฯ ในอิรัก และการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศ
อยาตุลเลาะห์คาเมเนอีได้สั่งให้สอบกองกำลังปกป้องการปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) ที่มีฐานทัพอยู่นอกกรุงเตหะรานที่ยิงขีปนาวุธโจมตีเครื่องบินเที่ยวบิน 752 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะ IRGC แทบจะเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถแตะต้องได้เลยในอิหร่าน
แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนใน IRGC จะออกมาขอโทษกับการโจมตีเครื่องบินยูเครนครั้งนี้ พร้อมอธิบายว่าความผิดพลาดครั้งนี้เกิดจากการสื่อสารขัดข้อง และรัฐบาลอิหร่านได้สัญญาว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ชาวอิหร่านจำนวนมากก็ยังรู้สึกโกรธแค้น
นักศึกษาอิหร่านที่ออกมารวมตัวกันประท้วงได้เรียกร้องให้อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ลาออกจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และให้คนอื่นๆ ในรัฐบาลอิร่านลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของชาวอิหร่านหลายคนที่อยู่บนเครื่องบินลำนั้น หลายคนตะโกนข้อความว่า "เผด็จการต้องตาย", "คาเมเนอีละอายซะบ้าง ออกจากประเทศไป" อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับผู้อยู่เบื้องหลังการยิงเครื่องบิน รวมถึงดำเนินคดีกับคนที่ออกมาโกหกก่อนหน้านี้ว่าอิหร่านไ่ม่ได้ยิงเครื่องบิน
ปฏิกิริยาของต่างชาติ
ช่วงคืนวันที่ 11 ม.ค. โรเบิร์ต มาแคร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอิหร่านถูกจับกุมระหว่างการประท้วงหน้ามหาวิทยาลัยอามีร์คาบีร์ในกรุงเตหะราน ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นผู้ชุมนุม แต่สำนักข่าวอิเรเนียนทัสนิมรายงานว่า เขาได้รับการปล่อยตัวในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น
ทั้งนี้ โดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษกล่าวว่า การจับกุมทูตในกรุงเตหะรานโดยไม่มีหลักฐานหรือคำอธิบายถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง
อย่างไรก็ตาม บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษมองว่า อิหร่านยอมรับว่ายิงเครื่องบินตก อาจเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการ "ตอกย้ำถึงความสำคัญของการลดความตึงเครียดในภูมิภาค" และเปิดทางให้มีการเจรจาข้อตกลงกันใหม่
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาไม่ได้ตั้งเป้าได้ว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอิหร่าน แต่เขาสนับสนุนผู้ประท้วงในอิหร่าน พร้อมระบุว่า รัฐบาลอิหร่านต้องอนุญาตให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปสังเกตการณ์และรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประท้วง อิหร่านไม่สามารถสังหารหมู่ผู้แระท้วงอย่างสันติหรือปิดกั้นอินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไป ทั่วโลกกำลังจับตาอิหร่านอยู่
รัฐบาลยูเครนเรียกร้องให้มีกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ส่วนจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าวว่า เขารู้สึกโกรธแค้นและเดือดดาล และอิหร่านจะต้องแสดงความรับผิดชอบทั้งหมดในเหตุการณ์ที่เลวร้ายนี้