ประวัติศาสตร์โลก ‘เฮเลนา ซิโตรโนวา’ นักโทษสาวยิวกับสัมพันธ์รักทหารนาซีในค่ายสังหาร
สัมผัสเรื่องราว 'เฮเลนา ซิโตรโนวา' นักโทษสาวชาวยิวสโลวัก ในค่ายสังหาร กับสัมพันธ์รักผู้คุมนาซี สุดสะเทือนใจ ในมหาอุปรากร โดยสมเถา สุจริตกุล
สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติอีกรอบหนึ่งก็ว่าได้ เสมือนจุดดับ เพื่อล้างบางทุกสรรพสิ่ง แล้วเกิดชีวิตใหม่ในโลก
เช่นเดียวกับชีวิตของ ‘เฮเลนา ซิโตรโนวา’ (Helena Citro’nova’) นักโทษสาวชาวยิวสโลวัก ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวจากชีวิตจริง ผู้ยืนหยัดในความเป็นมนุษย์ แม้ในวันสวรรค์ดับ กับ ‘ฟรันซ์ วุนซ์’ ทหารนาซี ผู้มีหน้าที่ฆ่า ฆ่า และฆ่า...
จากเรื่องราวนี้ นำมาสู่แรงบันดาลใจให้โอเปร่าสยาม คณะมหาอุปรากรไทย รังสรรค์ออกมาเป็นผลงานมหาอุปรากรล่าสุด “เฮเลนา ซิโตรโนวา” โดย สมเถา สุจริตกุล และอำนวยการสร้างโดย ถ่ายเถา สุจริตกุล ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ได้แก่ อิสราเอล เยอรมนี สโลวาเกีย และออสเตรีย สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพฯ และภาคเอกชนต่าง ๆ
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากนักแสดงชั้นนำจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น คาสแซนดรา แบล็ค จากสกาย ไลต์ มิวสิคเธียเตอร์ รับบท ‘เฮเลนา’, สเตลลา กรีโกเรียน จากเวียนนา โอเปร่า, ฟัลคอร์น โฮนิสต์ จากโอเปร่าออสเตรีย, เดเมียน ไวต์ลีย์ จากโอเปร่าออสเตรีย และนาถลดา ธรรมสมาคม ดารามหาอุปรากรไทยในสังกัดฟลันเดอร์ โอเปร่าแห่งเบลเยียม
บรรเลงโดยวงดุริยางค์เยาวชนสยามซินโฟนิเอตต้า ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 70 ชิ้น นักร้องประสานเสียง และวงดุริยางค์บนเวที ภายใต้การอำนวยเพลงของ ‘ทฤษฎี ณ พัทลุง’
1.
‘เฮเลนา ซิโตรโนวา’
เธอเป็นนักโทษสาวชาวยิว ผู้มีพื้นเพจากสโลวาเกีย ซึ่งถูกจับมากักขังรอวันตายที่ 8 ค่ายสังหารล้างเผ่าพันธุ์เอาซวิทซ์ พร้อมกับโรซินกา พี่สาวและลูก ๆ
เฮเลนา ลอบย้ายตัวเองมาทำงานในหน่วย ‘คานาดา’ หลังจากตรากตรำทำงานหนัก จนแทบเอาชีวิตไม่รอด ซึ่งในหน่วยงานนั้นเธอมีหน้าที่หลัก คือ การคัดเลือกข้าวของและเสื้อผ้าคนตาย สำหรับนักโทษใหม่ และแยกของมีค่าให้พวกนาซี
ต่อมาในวันเกิดของ ‘ฟรันซ์ วุนซ์’ ผู้คุมชาวนาซี เฮเลนา ถูกบังคับให้ร้องเพลงภาษาเยอรมัน ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมสูงส่งทางดนตรี ใครจะไปรู้ว่า การร้องเพลงสุขสันต์วันเกิดในครั้งนั้นทำให้ฟรันซ์ วุนซ์ติดใจเชลยรายนี้ จึงเรียกเธอไปพบ โดยอ้างว่าจะใช้ให้ตัดเล็บ
เฮเลนาเข้าไปพบ แต่ปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำสั่งอย่างไม่กลัวตาย!!!
ฟรันซ์ วุนซ์ พยายามช่วยเฮเลนาอย่างเต็มความสามารถ ภายใต้ข้อจำกัด เพราะหากถูกจับได้ นั่นหมายถึง เฮเลนาต้องตายเป็นคนแรก แต่เฮเลนาใจแข็งเหมือนเดิม จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยพี่สาวของเธอจากโรงสังหาร แต่ไม่สามารถช่วยลูก ๆ ของเธอได้
วีรกรรมครั้งนั้น ทำให้เฮเลนาลืมไปว่า ตัวเองเป็นยิว แต่เขาเป็นนาซี และในที่สุด ความรักระหว่างนักโทษสาวเดนตายกับผู้คุมจอมโหดก็เกิดขึ้น
...มันคือความรักที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น พวกเขาทั้งสองคนจึงไม่กล้าแม้แต่กระทั่งมองหน้ากันเต็มตาหรือเอ่ยปากบอกว่า ‘รัก’
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทหารรัสเซียปิดค่าสังหารเอาสวิซท์ แต่นาซียังทำทุกอย่างเพื่อล้างเผ่าพันธุ์ จึงบังคับให้นักโทษยิวใกล้ตายที่หลงเหลืออยู่เดินเท้าเปล่าบุกหิมะที่หนาวเย็นในสภาพเกือบเปลือย โดยหลอกว่าจะพาไปอยู่ในค่ายใหม่ที่มีสภาพดีกว่าเดิม
ก่อนจากกัน ฟรันซ์ วุนซ์ เสี่ยงชีวิตส่งผ้าห่มกันหนาวให้หญิงคนรัก พร้อมกับเศษกระดาษจดที่อยู่ของมารดาที่ออสเตรียและบอกให้เฮเลนาไปหาเมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติ
ช่างน่าสะเทือนใจ!!! และไม่รู้ว่าจุดจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร
‘ถ่ายเถา สุจริตกุล’ แปลและเรียบเรียงจาก Perspectives of Holocaust บางช่วงบางตอนถึงโรงฆ่ามนุษย์ จากคำบอกเล่าของเฮเลนา ที่รอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ว่า “เมื่อเขาเข้ามาในโรงทหารที่ฉันกำลังทำงาน เขาเดินผ่านฉันแล้วโยนกระดาษโน้ตให้ ฉันทำลายทันที แต่ยังเห็นคำว่า ‘รัก’...ฉันรักเธอ
ฉันคิดว่า ฉันตายเสียยังดีกว่ามีอะไรกับทหารนาซี หลังจากนั้นก็มีแต่ความเกลียด ฉันไม่แม้แต่มองเขา...
หลังสงครามเลิก
ค่ายนรกถูกปิดโดยรัสเซีย เฮเลนากับยิวอีกหลายคนต้องหลบซ่อนจากพวกรัสเซีย
“ไม่ว่าเราจะซ่อนที่ไหน” เฮเลนา เล่า “พวกมัน (รัสเซีย) ก็หาเราจนเจอ มันข่มขืนเพื่อนฉัน ทำสิ่งที่ร้ายกาจต่าง ๆ นานา มันโหดเหี้ยมมาก คำว่าโหดเหี้ยมยังน้อยเกินไป มันข่มขืนตลอดเวลา ฉันได้ยินเสียงตะโกน เสียงหวีดร้อง แล้วเงียบหายไป เพราะไม่มีเรี่ยวแรงหลงเหลืออยู่แล้ว บางรายถูกข่มขืนจนตายคาที่ พวกมันบีบคอ มันเหมือนสัตว์ป่าที่บ้าคลั่ง พวกเราคิดว่า ถ้าเราไม่ตาย เพราะน้ำมือนาซี พวกเราก็ต้องตายเดี๋ยวนี้ เพราะรัสเซีย”
2.
ในเวทีการแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยถึงนโยบายการส่งเสริมเรื่องศิลปะร่วมสมัยและดนตรีร่วมสมัย ว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ประเทศไทยมีศิลปินที่มีความเป็นอัจฉริยะ มีความโดดเด่นในหลายเรื่อง ตั้งแต่พระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยะกร) อาจารย์ด้านดนตรีสากลของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ยกย่องให้เป็นศิลปินศิลปาธร
หนึ่งในนั้น ยังมีสมเถา สุจริตกุล ศิลปินรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาดนตรี ซึ่งได้ฝากผลงานไว้มากมาย ในส่วนของดนตรีคลาสสิคและดนตรีสากล
สำหรับการแสดงอุปรากรนั้น รมว.วธ.ให้ความรู้ว่า ต้องผนวกทั้งในเรื่องการผสมผสานของกวีคลาสสิคและเล่าเรื่องราว มีการสื่อคล้ายหรือมากกว่าละครเวที ทั้งด้านดนตรี เนื้อร้อง และเรื่องราวที่ถ่ายทอด ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่นำเรื่องราวที่มีความเป็นจริง เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ ที่มีความรัก ความห่วงหาให้แก่กัน
แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องสถานะ เชื้อชาติ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นถือว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการมารับชม เพราะมีความลงตัวในเรื่องเนื้อหา การนำดนตรีผสมผสาน และที่สำคัญการจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถือว่ากระทรวงวัฒนธรรมอยากให้เป็นศูนย์กลางในการจัดแสดงด้านวัฒนธรรมที่เป็นศูนย์กลางของไทยและภูมิภาคด้วย
“ที่ผ่านมามีการปรับปรุงและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับสนับสนุนสยามซินโฟนิเอตต้า และเห็นถึงการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนสนใจดนตรีเป็นทุนเดิม มาชมมหาอุปรากร ที่ไม่มีผู้จัดแสดงได้ง่าย ๆ แต่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ ดังนั้น จึงถือเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนและต่อยอดส่งเสริมให้เยาวชน และผู้สนใจมารับชม เพื่อให้เห็นถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายนำทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย” อิทธิพล กล่าว
ด้าน สมเถา สุจริตกุล ผู้รังสรรค์ดนตรีและคำร้อง กำกับการแสดง บอกเล่าเพิ่มเติมว่า โอเปร่าเรื่องนี้มีการเตรียมงานนานมากกว่าปกติ โดยใช้ระยะเวลายาวนานถึง 7 ปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับความความสะเทือนใจ เมื่อต้องคลุกคลีกับเรื่องไปนาน ๆ ทำให้ระหว่างนั้นต้องหันไปทำแนวตลกหรือน่ารักแทน
แล้วกลับมาด้วยความฝืนใจ เหมือนกลับเข้ามาในโลกความมืด แต่เป็นโลก ซึ่งความจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเลวของมนุษย์อย่างเดียว แต่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่โหดเหี้ยมมาก “มนุษย์ทำตัวเป็นอมนุษย์กันได้ แต่ภายในโลกร้ายแรง ยังมีความเป็นมนุษย์จนได้”
ผู้กำกับการแสดง เล่าอีกว่า เคยมีโอกาสถามลูกศิษย์ว่า ประเทศไทยแพ้หรือชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื่อหรือไม่...ไม่มีใครทราบเลย นั่นจึงทำให้คิดว่า เราจะลืมประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ในเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทบถึงประเทศไทย และมีหลายอย่างที่เป็นความเข้มแข็งของคนปัจจุบัน แม้แต่ไอเดียความเป็นไทย ส่วนหนึ่งมาจากการรวมตัวกันในสมัยหนึ่ง
“ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์เหมือนกระจก ซึ่งคนส่วนมากไม่กล้าสอน เพราะกลัวว่า สอนไปจะเห็นตัวเอง แต่บางทีจำเป็นต้องสอน”
“ในชีวิตไม่เคยซ้อมโอเปร่าที่ในการซ้อมทุกครั้ง นักแสดงทุกคนกำลังร้องไห้” สมเถา เผยให้ฟัง และว่านี่จึงเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทุกครั้งที่ซ้อมมีการร้องไห้
ขณะที่หัวเรือใหญ่อย่าง ‘ถ่ายเถา สุจริตกุล’ ผู้อำนวยการสร้าง ให้แนวคิดการรับชมโอเปร่าในประเทศไทยว่า หลายคนรับฟังแล้วอาจเกิดอคติ ฟังไม่รู้เรื่อง หรือตั้งแง่ว่า ต้องปีนบันไดฟัง ขอแนะนำว่า ในการชมเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องศึกษาว่า เรื่องราวนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เราไม่คุ้นเคยอย่างโอเปร่า ต้องศึกษาว่าเรื่องโดยย่อเป็นอย่างไร เกี่ยวกับอะไร เพื่อช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้น เมื่อถึงเวลาชมการแสดง และรับฟังดนตรีก็ตาม ทุกอย่างจะสื่อถึงกันทั้งหมด ซึ่งมีคำร้องไพเราะมาก
ทั้งนี้ ตนเองได้อยู่กับวงการทำบทบรรยายภาษาไทย เพื่อจะบรรยายว่าบทขับร้องภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีส่วนช่วยมากในการให้ผู้ชมเข้าถึงความไพเราะของเนื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่ออกมาจากคำบรรยายเป็นเพลง เป็นดนตรีของการร้อง เพราะบางครั้งลึกซึ้งและชวนร้องไห้มากเหลือเกิน
“หากเราไม่รู้เรื่องเลย เมื่อรับฟัง อาจจะหาว่าไม่น่าฟัง ดังนั้น หากให้เข้าถึงอรรถรส ดิฉันทราบว่า โอเปร่าเป็นเสียงค่อนข้างใหม่กับคนไทย อยากให้ค่อย ๆ เริ่มฝึกฝน โดยเริ่มศึกษา มีความเข้าใจ และคนจะเกิดความสนุกสนานและเพลิดเพลินรู้สึกคล้อยตามดนตรี”
โดยผู้ชมเรื่องนี้ จะมีบทบรรยายภาษาไทยฉายสองข้างเวที หากผู้ชมหวังว่าจะรู้เรื่องคร่าว ๆ แล้ว อยากรู้ว่าพูดว่าอะไร สามารถเหลือบมองได้ แต่ไม่ควรจ้องตลอดเวลา ให้ดูลีลาการขับร้องและแสดง และต้องไม่ลืมว่าดนตรีมีอิทธิพลมากเหลือเกินในการแสดงโอเปร่า
......................................................
‘เฮเลนา ซิโตรโนวา’ มหาอุปรากร โดย สมเถา สุจริตกุล จะเปิดแสดงในวันที่ 16 และ 17 ม.ค. 2563 เวลา 20.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 3,000/2,500/2,000/1,500/800 บาท และสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่นำบัตรมาแสดง (จำกัดโซนที่นั่ง) บัตรราคา 200 บาท สำรองได้ที่ Ticketmelon.com/operasiam/Helena หรืออีเมล [email protected] ไลน์ @operasiam หรือโทร 06-1971-6477 .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/