'ปิยบุตร'เสนอหั่นงบศาลรัฐธรรมนูญ-งบสัมมนาสร้างคอนเน็คชั่น
เว็บไซต์ บีบีซีไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2563 เข้าสู่วันที่ 4 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 ยังเหลืออีก 16 จาก 55 มาตราที่สภาต้องพิจารณา หลังจากประธานส่งพักการประชุมไปเมื่อ 01.16 น. ที่ผ่านมาไฮไลท์สำคัญในวันที่ 3 ของการเปิดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ อยู่ที่งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของศาล มาตรา 31 ซึ่งตั้งไว้ 6,229.2 ล้านบาท
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้เปิดอภิปรายโจมตีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งขอตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 31% ในจำนวนนี้เป็น "โครงการปรับปรุงบ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ" ภายใต้งบ 193.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ "เกินครึ่ง" ของงบศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งไว้ 293.99 ล้านบาท
นายปิยบุตร เปิดอภิปรายโจมตีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งขอตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 31% ในจำนวนนี้เป็น "โครงการปรับปรุงบ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ"
นายปิยบุตรเสนอให้ตัดงบปรับปรุงบ้านทิ้งทั้งหมด แล้วโอนการดูแลบ้านไปให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บในการรักษามากกว่า "จะได้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์รัฐประหารแบบที่ผ่านมา"
สำหรับ "บ้านพระยารัตนธิเบศ" เป็นที่ทำการเดิมของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2543 ก่อนย้ายสำนักงานไปที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งนายปิยบุตรชี้ว่า ปัจจุบันศาลยังไม่คืนบ้านรัตนาธิเบศ ครอบครองเอาไว้อย่างนั้น บางครั้งอาจมีการไปประชุมเดือนละครั้งตามสะดวก ผลที่ตามมาคือความทรุดโทรมผุพังของอาคาร และเริ่มของบประมาณผูกพันปรับปรุงเมื่อปีก่อน
"คำถามที่สำคัญคือนี่เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือ ทำไมไม่ทำแบบกระทรวงพาณิชย์ที่เคยโอนคืนอาคารเก่าที่ท่าเตียน ให้แก่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และแปลงเป็นมิวเซียมสยาม ทำไมเขายอมได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยอมไม่ได้" นายปิยบุตรตั้งคำถาม
อีกโครงการที่นายปิยบุตรเสนอให้หั่นงบทั้งก่อนคือ "โครงการอบรมสัมมนา" เพื่อ "ประหยัดงบประมาณ" และ "ปิดโอกาสไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหาคอนเนคชัน (สายสัมพันธ์)" เขาชี้ว่า โครงการดังกล่าวตั้งงบไว้ 12.16 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมาย 137 คน เฉลี่ยหัวละ 8.8 หมื่นบาท ขณะที่โครงการแบบเดียวกันของศาลปกครองใช้งบ 15 ล้านบาท แต่มีกลุ่มเป้าหมาย 3,170 คน เฉลี่ยหัวละ 4,732 บาท นั่นเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้งบประมาณต่อหัวมากกว่าศาลปกครองเกือบ 20 เท่า
ที่สำคัญอยู่ที่โครงการ "หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 8 (นธป.)" อบรม 36 วัน ใช้เงินกว่า 7 ล้านกว่าบาท อบรมคน 55 คน เฉลี่ยหัวละ 1.3 แสนบาท รวมค่าเดินทางวิทยากรอีก 2.3 แสนบาท โครงการนี้เป็นการเรียนฟรีแต่คนเรียนมีเพียงข้าราชการผู้ใหญ่ นักการเมือง รัฐมนตรี พ่อค้าวานิช ตุลาการ ไม่มีตาสีตาสาได้มาเรียนฟรีเลย พร้อมยกข้อมูลการวิจัยของ ศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการจัดโครงการสัมมนาภาครัฐเหล่านี้ ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งรวมตัวในการสร้าง "คอนเนคชัน" เท่านั้น แต่ก่อนมีแต่ วปอ. กกต. มาวันนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะทำบ้างในรูปของโครงการ นธป. จึงน่ากังวลว่าหลักสูตรของศาละจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้พบปะกับพ่อค้าวานิช ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ฯลฯ ผ่านการศึกษาอบรม แล้วจะเป็นการส่งเสริมความมีอิสระในการตัดสินได้อย่างไร